สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคู่สมรส ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2567

วันที่ 21 ต.ค. 2567 เวลา 20:04 น.

เวลา 13.47 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคู่สมรส ที่เดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ เพื่อพิจารณาตัดสินผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โอกาสนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระประธานในวิหารพระทรงม้า ซึ่งเป็นอาคารคลุมบันไดทางขึ้นลานประทักษิณขององค์พระมหาธาตุ มีภาพปูนปั้นปิดทอง เป็นภาพพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ หรือ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา อายุเก่าแก่สมัยอยุธยา และมีท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ เป็นรูปปั้นอยู่ขนาบประตูทางขึ้นลานประทักษิณ เชื่อว่าเป็นผู้เฝ้าพิทักษ์องค์พระมหาธาตุ    วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา มีประวัติตามตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า สร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งเมืองนครศรีธรรมราช จากการดำเนินงานทางโบราณคดีพบว่า อิฐบางส่วนของวัดมีอายุถึง 1,200 ปี อาคารในวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในมีองค์พระมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาขนาดใหญ่ ปลียอดประดับแผ่นทองคำ และอัญมณีหลากชนิด แสดงให้เห็นความศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระมหาธาตุ และมีเจดีย์รายในเขตพุทธาวาส รอบองค์พระมหาธาตุ 149 องค์ ส่วนวิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกา เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องพุทธบูชา เช่น พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปบุทอง พระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เครื่องประดับมีค่าที่พุทธศาสนิกชน นำไปถวายพระมหาธาตุ เป็นพุทธบูชามาแต่อดีต รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดี และศิลปวัตถุสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช เช่น เทวรูปพระวิษณุ และจารึกโบราณหลายหลัก นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ เรียกว่า พระวิหารหลวง เป็นอาคารแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย, วิหารธรรมศาลา เป็นสถานที่อภิเษกน้ำพระพุทธมนต์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567, วิหารพระแอด ประดิษฐานพระสังกัจจายน์, วิหารสามจอม ประดิษฐานพระพุทธรูป ชื่อว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดและโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ กรมศิลปากร ได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติ เมื่อปี 2479 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในปี 2567 ปัจจุบัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำส่งเอกสารให้กับยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้วัดพระมหาธาตุ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เวลา 15.16 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแรกในภาคใต้ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ฯ เมื่อปี 2517 เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุตามหลักวิชาการสากล โดยสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้รับโบราณวัตถุตั้งแต่ปี 2509 จากการบูรณะเจดีย์ยักษ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และบางส่วนขุดพบในเขตภาคใต้ ภายในมี 2 ชั้น แบ่งออกเป็นห้องนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ห้องยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ประมาณ 4,000 ปี จัดแสดงหลักฐานที่สันนิษฐานว่า มนุษย์ยุคแรกของนครศรีธรรมราชตั้งถิ่นฐานในป่า ก่อนที่จะย้ายมาอาศัยในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติ มีหลักฐานเครื่องใช้ที่พบ ได้แก่ โบราณวัตถุ ประเภทเครื่องมือหินกะเทาะ, กำไลหิน, กลองมโหระทึก หล่อด้วยโลหะสำริด สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยพบศิลาจารึกอักษรปัลลวะ (อินเดียโบราณ) ซึ่งข้อความในจารึกแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลด้านภาษาและศาสนา ห้องจัดแสดงหลักฐานวัฒนธรรมต่างแดน จัดแสดงนิทรรศการชุมชนโบราณ เริ่มติดต่อกับต่างประเทศ ราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 ด้วยปัจจัยด้านทำเลและผลผลิต อาทิ ของป่า, เครื่องเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศอื่น ๆ ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอก ในการพัฒนาบ้านเมือง ทำให้เติบโตเป็นเมืองท่าค้าขายแห่งคาบสมุทรภาคใต้ และกลายเป็นอาณาจักรที่เจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 นครศรีธรรมราช เป็นดินแดนที่ศาสนาพราหมณ์ฮินดู แผ่ขยายเข้ามาเป็นแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย เทวรูปที่พบ อาทิ เทวรูปพระวิษณุ อายุเก่าแก่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบันทึกไว้ว่า ครั้งสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำพราหมณ์จากนครศรีธรรมราชเข้ามารับราชการประจำสำนัก เพื่อรื้อฟื้นและวางหลักพิธีการต่าง ๆ ให้เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ในห้องนิทรรศการนี้ ได้จัดแสดงพระพุทธรูป และโบราณวัตถุ อาทิ เศียรพระพุทธรูปศิลา ศิลปะภาคใต้ เป็นอิทธิพลแบบอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงว่านครศรีธรรมราช นับถือพระพุทธศาสนา มากว่า 1,500 ปี ห้องประณีตศิลป์ จัดแสดงงานหัตถศิลป์ โดยเฉพาะเครื่องถมฝีมือประณีต ซึ่งได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการ สำหรับเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้จัดแสดงพนักกัญญาเรือพระที่นั่ง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องถมทอง ที่งดงามและใหญ่ที่สุดในนครศรีธรรมราช พร้อมจัดแสดงผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช งานฝีมือชิ้นสำคัญ ที่ในอดีตพระมหากษัตริย์ พระราชทานแก่บุคคลสำคัญ ปัจจุบันหาชมยาก และมีตัวอย่างผ้าทอพื้นบ้านลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ห้องเครื่องถ้วยโบราณ พบในพื้นที่เมืองเก่า และบางส่วนพบบริเวณที่เคยเป็นเมืองท่าโบราณ ได้แก่ เครื่องถ้วยจีน, เครื่องถ้วยเวียดนาม, เครื่องถ้วยศรีวิชัย, เครื่องถ้วยสุโขทัย และเครื่องถ้วยพื้นเมือง ในการนี้ ทรงต่อจิ๊กซอว์เครื่องถ้วยสามมิติ ชิ้นส่วน "คนโท" จำลอง เป็นศิลปะพื้นเมืองสมัยศรีวิชัยเมืองโบราณพระเวียง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งแต่วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.