กรมป่าไม้ ตรวจสอบไร่เชิญตะวัน รุกป่าสงวนฯ จ.เชียงราย
วันที่ 21 ต.ค. 2567 เวลา 07:07 น.
สนามข่าว 7 สี - งานเข้าไม่หยุด ! กรมป่าไม้ เตรียมเข้าตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ของ "ไร่เชิญตะวัน" ของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี หลังโซเชียลพบข้อมูลมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม โดยวันนี้ (21ต.ค) นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ในตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หลังโซเชียลไปพบข้อมูลว่า ไร่เชิญตะวัน มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 190 ไร่ นั่นหมายความว่ามีการบุกรุกพื้นที่ของกรมป่าไม้ นอกเหนือจากการอนุญาตใช้ประโยชน์ จำนวน 51 ไร่ ซึ่งตามข้อเท็จจริง มูลนิธิวิมุตตยาลัยของไร่เชิญตะวัน ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้าง 113 ไร่ และทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอใช้อีก 26 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่สร้างวัด 14 ไร่ 3 งาน และใช้เป็นพื้นที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน อีกกว่า 11 ไร่ เมื่อรวมพื้นที่ขออนุญาต จึงอยู่ที่ 139 ไร่ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวขอสังคมอย่าเพิ่งด่วนสรุป อาจมีการยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์เพิ่มเติม หรืออาจมีผู้อื่นเป็นผู้บุกรุก ดังนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งจะทราบผลภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่ามีการใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนเกินกว่าที่ขออนุญาต จะเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 54 จําคุกตั้งแต่ 1-20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และหากครอบครองเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ มีโทษจําคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท โดยศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ก่อตั้งโดย พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย โดยสำนักพุทธฯ เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ให้ ในปี 2566 ส่วนที่หลายคนสงสัย ว่าเหตุใด ? พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ถึงยังจำวัดอยู่ที่ญี่ปุ่น ไม่กลับไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้แจงว่าท่านเดินทางไปจำวัดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ที่วัดไทยในญี่ปุ่น ซึ่งตามหลักปฏิบัติแล้ว หลังออกพรรษา ก่อนจะครบ 1 เดือน ทุกวัดสามารถทำกฐินได้ ปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกับพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่ยังอยู่ญี่ปุ่นเพื่อรับกฐิน โดยล่าสุดยังไม่มีข้อมูลว่าจะเริ่มพิธีทอดกฐินวันไหน แต่คาดว่าหากเสร็จแล้วท่านคงจะเดินทางกลับทันที นอกจากนี้ วันที่ 22 ตุลาคม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในกรรมาธิการ เป็นวาระเร่งด่วนเช่นกัน