รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริฯ ติดตามผลการดำเนินโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ ที่จังหวัดระยอง

วันที่ 16 ต.ค. 2567 เวลา 20:08 น.

พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปติดตามการดำเนินโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ณ เรือนจำกลางระยอง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้ต้องขัง เมื่อปี 2553 เน้นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุด ช่วงแรกมีฝ่ายควบคุมแดน 3 หรือ แดนหญิง เป็นกลุ่มเป้าหมาย ต่อมาปี 2560 ดำเนินโครงการ "การนำแนวทางของหลักธรรมทางพุทธศาสนามาปรับใช้" จัดตั้งฐาน หรือ มุมกำลังใจฯ ภายในฝ่ายควบคุมแดนต่าง ๆ เพื่อต่อยอดและถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้ต้องขังกลุ่มอื่น ๆ จัดตั้ง "ฐานกำลังใจ" จำแนกกลุ่มผู้ต้องขังให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และเป็นสถานที่หลักในการจัดการอบรม ภายใต้โครงการกำลังใจฯ ในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ โอกาสนี้ ชมการแสดงของผู้ต้องขังหญิง ได้แก่ ชุดโยคะเพื่อสุขภาพ พร้อมร้องเพลง ใจนำทาง และรำถวายพระพร ส่วนผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ กล่าวถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ต้องขัง, ตำแหน่งงาน และการทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งทางเรือนจำฯ ได้มอบทุนประกอบอาชีพกองทุนกำลังใจฯ ทุนละ 20,000 บาท และติดตามให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือ ศูนย์ Care ร่วมกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดระยอง ติดตามให้ความช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขัง และคืนคนดีสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ มอบประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการ ประจำปี 2564-2565 ประกอบด้วย สวนสุภัทราแลนด์, บริษัท มณฑล รุ่งเรืองฟรูท จำกัด และ บริษัท ธีระพันธุ์ไม้ จำกัด ในการให้โอกาสแก่ผู้ก้าวพลาดเข้าไปทำงานหลังพ้นโทษ จากนั้น เยี่ยมชมการสาธิตฝึกอาชีพ ภายใต้โครงการกำลังใจ อาทิ ผลิตภัณฑ์พิมพ์ลายใบไม้จากวัสดุธรรมชาติ, งานประดิษฐ์จากเศษผ้า, การทำภาพปักมุก แกะสลักไม้, ตัดสติ๊กเกอร์กล่องไฟ, ภาพวาดจากวัสดุต่าง ๆ, ทำเรือพระที่นั่งจำลอง, เบเกอรี, นวดและสปา รวมทั้งร้านเสริมสวย สามารถสร้างรายได้ เป็นเงินปันผลร้อยละ 10 ส่วน "มุมปลูกกฎหมายใส่ปัญญา" เพื่อให้ผู้ต้องขังทราบถึงสิทธิและกฎหมายขั้นพื้นฐาน มีการจัดตั้ง "มุมราชทัณฑ์ปันโอกาส สร้างอาชีพ" เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลการจ้างงาน และตำแหน่งงานว่าง โดยศูนย์ CARE จะนำข้อมูลมาอัปเดตทุกเดือน การฝึกอบรมภายใต้โครงการกำลังใจ ฯ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และความสนใจของผู้ต้องขัง ส่งผลให้ผู้ก้าวพลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย สามารถนำความรู้ หรือ ทักษะอาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งการสมัครงาน ศึกษาต่อ หรือ ต่อยอดในด้านอื่น ๆ ในตอนบ่าย เดินทางไปยังวิทยาลัยเทคนิคระยอง อำเภอเมือง ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรือนจำกลางระยอง ร่วมกับสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดระยอง และสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอบ้านค่าย จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้นด้านทักษะอาชีพ ภายใต้โครงการกำลังใจ ฯ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษา ด้านอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และความสนใจของผู้ต้องขัง จัดอบรมภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และทักษะด้านอาชีพ 9 หลักสูตร ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 จำนวน 256 คน อาทิ การขายของออนไลน์, งานซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ, งานช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์, การนวดเพื่อสุขภาพ และงานซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีนเล็ก โดยปี 2568 จะเพิ่มเป็น 15 หลักสูตร จากนั้น เดินทางไปเยี่ยม นายกำพล แซ่แต้ อาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ณ บ้านเลขที่ 112/23 หมู่ที่ 2 ตำบลทับมา อำเภอเมือง ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบที่พ้นโทษจากเรือนจำ ภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริฯ มีทักษะด้านช่างยนต์ ได้รับทุนประกอบอาชีพจากกองทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขัง เรือนจำกลางระยอง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และยินยอมให้ติดตามการประกอบอาชีพ