เพจหมอยกเคสอุทาหรณ์ ตรวจเกินจำเป็น วินิจฉัยผิดโรค
วันที่ 16 ต.ค. 2567 เวลา 13:39 น.
หมอยกเคสอุทาหรณ์ ตรวจเกินจำเป็น ชาย 42 ปี ไอเหนื่อย 2 วัน รพ.เอกชน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ บอกเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในปอด ค่าใช้จ่ายสูงย้ายมารักษาตามสิทธิ หมอเช็กอาการสงสัยไม่น่าจะใช่ เจาะน้ำในปอดไปตรวจ สรุปเป็นวัณโรคในเยื่อหุ้มปอด สะท้อนวิธีคิดตรวจยิ่งอลังการ (คนไข้) ยิ่งสบายใจ วันนี้ (16 ต.ค.67) เพจเรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ยกเคสผู้ป่วย เพศชายอายุ 42 ปี ถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลของหมอ หลังจากนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน มา 2 วัน โดยประวัติจากที่ได้รับข้อมูลมาจากโรงพยาบาลแรก พบว่าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการไอ เหนื่อย 2 วัน จากการตรวจสารพัดอย่าง รวมไปถึงการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในปอด Pulmonary Embolism (ต่อไปจะขอย่อว่า PE) ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดชนิดฉีด หลังจากอยู่โรงพยาบาล 2 วัน และมีแนวโน้มต้องใช้เวลารักษาอีกหลายวัน คาดว่าค่าใช้จ่ายจะสูงมาก คนไข้จึงขอย้ายมารักษาตัวตามสิทธิ์ คุณหมอจากเพจเรื่องเล่าจากโรงพยาบาล บอกด้วยว่า PE ไม่ใช่โรคประหลาด พิสดาร หรือโรคหายากอะไร แต่ก็ไม่ใช่โรคที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะกับผู้ชายที่ไม่มีโรคประจำตัว ก่อนจะไม่สบายยังทำงานทุกวัน ออกกำลังกายได้ตามปกติ ไม่ได้มีประวัติต้องอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ๆ (สำหรับคนทั่วไปอาจจะเคยได้เห็นข่าวหรือได้ยินว่า โรคนี้เกิดกับคนที่ต้องนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน ๆ ) คนไข้ให้ประวัติว่า จริง ๆ เริ่มรู้สึกหายใจขัด ๆ มาสัก 10 วันแล้ว แต่ 2 วันก่อนที่รู้สึกชัดว่าเหนื่อยมากขึ้น ก็หลังจากไปเล่นกีฬา (เตะบอล) หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจลึก ๆ แล้วรู้สึกเจ็บขัดบริเวณชายโครงด้านซ้าย เปิดดูผลเอกซเรย์ปอด จากโรงพยาบาลแรก ซึ่งเป็นภาพเอกซเรย์ธรรมดา ก็เห็นว่ามีรอยบริเวณชายปอดล่างด้านซ้าย ตรวจร่างกาย ฟังเสียงหายใจปอดด้านซ้ายล่างก็ได้ยินเสียงเบาลง รอยฝ้าขาวที่เห็นนั้นน่าจะเป็นน้ำ Plural Effusion จำคำครูได้ว่า ก่อนที่เราจะคิดถึง PE เอกซเรย์ปอดจะต้องปกติ ถ้าเอกซเรย์ผิดปกติใด ๆ อย่าเพิ่งคิดถึง PE อันนี้ก็ไม่น่าจะใช่แล้ว หมอจึงบอกคนไข้ ขอเจาะน้ำในปอดไปตรวจ คนไข้ก็ทำหน้างง สงสัยว่าหมอจะตรวจอะไรอีก เพราะหมอที่ รพ. แรก ตรวจเยอะแยะมากมาย เข้าอุโมงค์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นหมื่น ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็อ่านว่ามี PE จริง แต่มันน้อยมากจนไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับอาการของคนไข้ อธิบายกันอยู่พักใหญ่ สุดท้ายก็เจาะไปตรวจ สรุป ผู้ป่วยรายนี้ เป็น วัณโรคในเยื่อหุ้มปอด หยุดยาละลายลิ่มเลือด ตั้งแต่ผลตรวจออกแล้วก็รักษาด้วยยาวัณโรค ผ่านไป 3-4 วัน กลับบ้านได้ พูดกันอย่างยุติธรรม ภาพเอกซเรย์ปอดวันแรก มันไม่ชัดมาก รูปที่โพสต์นี้ เป็นวันที่ย้ายมา รพ. ที่สอง ก็คือห่างจากวันแรก 2 วัน ก็พอเข้าใจได้ว่า อาจเห็นว่าไม่มีอะไร นึกถึงตัวเอง หากอยู่ที่ รพ.หลังเขา ซึ่งไม่มีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็คงไม่มีทางคิดว่าจะต้องทำทันที แต่ในบริบทโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลกลางกรุงเทพฯ ผสมกับยุคนี้ คือ ยุคของการรอไม่ได้ ยุคของการตรวจ ๆ ไปเถอะ ตรวจยิ่งเยอะยิ่งดี ตรวจยิ่งอลังการ (คนไข้) ยิ่งสบายใจ เข้า รพ. มา 1 วัน หมอยังตอบไม่ได้ว่า คนไข้เป็นอะไร เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ คำตอบสุดท้าย สำหรับทุกคำถาม (ไป MRI แล้ว) ก็เข้าใจได้ว่า ทำไม จึงเป็นแบบนี้ ถ้าอยู่ รพ.หลังเขา เอกซเรย์ธรรมดายังไม่ชัด นอนรักษาดูอาการอีกวัน แล้วเอกซเรย์ซ้ำ ก็คงเห็น คงได้คำตอบเหมือนกัน แต่ความจริงอันโหดร้าย คือ ญาติคงจะไม่รอ ใจร้อนต้องได้คำตอบ พาไป รพ.เอกชน แล้วตรวจทุกอย่าง ให้คำตอบอะไรมาสักอย่าง ก่อนจะร้องเรียนว่า รพ.เรา ไม่ทำอะไรให้เลย หากเราแม่นจากประวัติ จากอาการ ที่คนไข้บอก ใช้การตรวจร่างกาย ค่าใช้จ่าย ศูนย์บาท และที่สำคัญ ญาติและคนไข้เชื่อหมอ เราจะไม่ต้องตรวจเกินจำเป็น คนไข้ไม่ต้องเสี่ยงได้รับยาที่ไม่จำเป็น แถมอันตรายด้วย ได้รับการวินิจฉัยที่ผิด พาหมอหลงทางไปอีกมีแต่จะทำให้คนไข้แย่ลง เพจเรื่องเล่าจากโรงพยาบาล โพสต์ทิ้งท้ายว่า “แต่เชื่อไหมว่า ในชีวิตจริงหมออธิบายจนคอแห้ง ก็อาจได้ข้อสรุปว่า ขอตรวจเถอะหมอเพื่อความสบายใจ”