ราชทัณฑ์ แจงกรณีผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้ อ้างไลฟ์ขณะถูกคุมขังในเรือนจำที่ไทย
วันที่ 16 ต.ค. 2567 เวลา 09:42 น.
ราชทัณฑ์ แจงกรณีผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้ อ้างไลฟ์ขณะถูกคุมขังในเรือนจำที่ไทย ราชทัณฑ์ เผย เรือนจำพิเศษพัทยา ไม่เคยรับตัวผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้รายนี้เข้าควบคุมภายในเรือนจำ และภาพห้องขังที่ปรากฎภายในคลิปนั้น มิใช่สถานที่ภายในเรือนจำ ย้ำ โทรศัพท์มือถือจัดเป็นสิ่งของต้องห้าม และหากพบว่า มีการนำโทรศัพท์เข้าภายในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังก็ตาม ถือเป็นความผิดและต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ตามที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอข่าว ผู้ต้องหาคดียาเสพติดชาวเกาหลีใต้ อายุ 44 ปี ได้อัดคลิปไลฟ์ภายในรถคุมขัง และถูกควบคุมตัวภายในสถานที่แห่งหนึ่ง โดยสำนักข่าว Maeil Business Newspaper หรือแมอิล รายงานข่าวกรณีที่ ผู้ต้องหารายดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้ลักลอบขนยาเสพติด โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภ.หนองปรือ เข้าจับกุมตัวได้ที่โรงแรมในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้น กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานว่า สปป.(ปป.1 พื้นที่ภาคกลาง ปท.ส่วนประสานงานต่างประเทศ) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานอัยการสูงสุดเกาหลี (SPO) สำนักข่าวกรองแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (NIS) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี เข้าจับกุมชาวเกาหลี 1 ราย โดยผู้ต้องหามีพฤติการณ์จัดหายาเสพติด (ไอซ์) จากประเทศไทยส่งไปยังสาธารณรัฐเกาหลี มีความเกี่ยวข้องกับคดีเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งทางการเกาหลีตรวจยึดพัสดุระหว่างประเทศที่ส่งมาประเทศไทย พบไอซ์ 38.46 กรัม ซุกซ่อนมาในถุงกาแฟ และถุงถั่ว ทางการเกาหลีขยายผลจับกุมผู้รับพัสดุดังกล่าว และสอบปากคำทราบว่า ผู้จัดส่ง ยาเสพติด คือ ผู้ต้องหาดังกล่าว ทางการเกาหลีจึงรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ และสามารถสืบทราบว่าบุคคลดังกล่าวได้หลบหนีมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จึงประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานตรวจคน เข้าเมือง เพื่อให้พิจารณายกเลิกการตรวจลงตรา (วีซ่า) จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่าบุคคลดังกล่าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลาอนุญาต (Overstay) เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ จึงได้เร่งให้เรือนจำในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งทางเรือนจำพิเศษพัทยา ได้รายงานว่า ไม่เคยรับตัวผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้รายนี้เข้าควบคุมภายในเรือนจำฯ และภาพห้องขังที่ปรากฎภายในคลิปนั้น มิใช่สถานที่ภายในเรือนจำ นอกจากนี้จากการตรวจสอบในระบบข้อมูลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ไม่พบว่ามีชื่อบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือจัดเป็นสิ่งของต้องห้าม และหากพบว่า มีการนำโทรศัพท์เข้าภายในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังก็ตาม ถือเป็นความผิดและต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อไป