เผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ครั้งสุดท้ายของปี 2567
วันที่ 15 ต.ค. 2567 เวลา 15:40 น.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” และ “ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์” ครั้งสุดท้ายของปี 2567 วันนี้ (15 ต.ค. 67) เมื่อเวลาประมาณ 02.19-03.00 น. เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ และดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ ครั้งสุดท้ายของปี 2567 เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งในในแต่ละพื้นที่มีช่วงเวลาการบังเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน โดยช่วงดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ มีดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดดาวเล็ก ๆ ใกล้กับดวงจันทร์ ขณะเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ฝั่งพื้นที่ผิวส่วนมืด เคลื่อนไปบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์ลับหายไป และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งด้านฝั่งเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ โดยปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ดังกล่าวสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเฉพาะภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่อื่นสังเกตเห็นเป็นปรากฏการณ์ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ ซึ่งทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดย “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมได้ยาก และเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นมุมมองจากโลกในแนวสายตา เมื่อมองจากโลกออกไปจึงเห็นว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวเสาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในปี 2567 นี้ ในประเทศไทยสามารถสังเกตได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือคืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่ 2 คือคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ สำหรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในเดือนตุลาคมถัดจากนี้ คือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันออกพรรษา ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน นอกจากนี้ ยังมีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ปรากฏในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก ไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม