DSI พร้อมรับคดี “บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด” เป็นคดีพิเศษ หาก ปคบ. พบพฤติการณ์เป็นแชร์ลูกโซ่

วันที่ 14 ต.ค. 2567 เวลา 15:38 น.

DSI พร้อมรับคดี “บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด” เป็นคดีพิเศษ หาก ปคบ. พบพฤติการณ์เป็นแชร์ลูกโซ่ พร้อมวางกรอบประเด็นสอบสวนสำคัญ แผนธุรกิจเน้นหาสมาชิกหน้าใหม่มากกว่าเน้นขายผลิตภัณฑ์ - สืบเส้นทางเงินบริษัท ก๊วนผู้บริหาร บอสดารา พร้อมระบุ จ่อประสาน สนง.เศรษฐกิจการคลัง เหตุ มีผลผูกผันอัตราดอกเบี้ยแบงก์ในช่วงเกิดเหตุ จากกรณี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด - The iCon Group Co., Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม หลังปรากฏจำนวนผู้เสียหายกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหาย 118 ล้านบาท ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทและกรรมการต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ซึ่งจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากมีจำนวนผู้เสียหาย 300 รายขึ้นไป และมีมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดีเอสไอพิจารณา ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ (14 ต.ค. 67) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยถึงกระบวนการพิจารณาการรับคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นคดีพิเศษ ว่า สำหรับการรับเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ที่จำนวนผู้เสียหาย 300 ราย มูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นตอนนี้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนคดี หากมีการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร พยานวัตถุ มีการสอบปากคำผู้เสียหาย สอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา แล้วพบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายอาจเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีการแจ้งเรื่องและพฤติการณ์ทางคดีมาให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ดีเอสไอยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่การดำเนินการตรวจสอบจะไม่หยุดชะงัก เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ โดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ (กองคดีแชร์ลูกโซ่ดีเอสไอ) มีการประสานเรื่องข้อมูลร่วมกันต่อเนื่อง พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ในส่วนของการสอบปากคำเหล่าบรรดาบอสของบริษัทฯ และบอสดารา จะมีการเรียกสอบปากคำซ้ำอีกหรือไม่นั้น ดีเอสไอก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่เคยมีการให้การไว้ เพื่อพิจารณาว่ายังมีประเด็นใดที่ดีเอสไอต้องสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งต้องดูข้อมูลที่ตำรวจได้ไปรวบรวมตรวจค้นว่ามีรายการใดบ้าง ส่วนกรอบขอบเขตการสอบสวนที่ดีเอสไอตั้งไว้ คือ เน้นย้ำเรื่องบัญชีของบริษัทและวิธีการรับประโยชน์ อาทิ แผนธุรกิจของบริษัทฯ มีการเน้นหาสมาชิกหน้าใหม่มากกว่าเน้นการขายผลิตภัณฑ์หรือไม่ เเละเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแผนธุรกิจ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า การจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น หากพบว่าพฤติการณ์มีลักษณะความผิดตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ทันที แต่ถ้าหากไม่เป็นความผิดตามแนบท้าย ก็ต้องเสนอกรรมการคดีพิเศษ พิจารณารับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอน ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ทราบว่ากระบวนการการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลใดเพียงแต่ระบุว่าบุคคลนั้นมีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานความผิดใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินการต่อไป แต่ทางดีเอสไอเองได้ดำเนินการเรื่องข้อมูลที่ได้มาเพื่อดูองค์ประกอบกรณีแชร์ลูกโซ่ว่ามีเหตุสงสัยหรือไม่ หากมีเหตุสงสัยก็จะดำเนินการสืบสวนคู่ขนานและจะไล่เรียงเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประสานข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบปากคำผู้เสียหายและรวบรวมพยานหลักฐานจนสรุปพฤติการณ์ชี้ประเด็นว่าเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ จึงจะเข้าของค์ประกอบเป็นความผิดตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า สำหรับภาพขั้นตอนหากดีเอสไอรับคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นคดีพิเศษ มีดังนี้ 1.การรับส่งสำนวนระหว่างกันของตำรวจและดีเอสไอ 2.การสอบปากคำพยานทางตำรวจยังมีอำนาจในการสอบปากคำตามที่ดีเอสไอร้องขอเพื่อกระจายบรรดาพยานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ตามสถานีโรงพักทั่วประเทศดำเนินการสอบปากคำได้อย่างทั่วถึง 3.สอบสวนเส้นทางการเงินและองค์ประกอบความผิด เพราะดีเอสไอเล็งเห็นว่าแผนธุรกิจดังกล่าวมีการเตรียมการซับซ้อนพอสมควร อีกทั้งประการสำคัญ คือ บริษัทดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดแบบตรงจาก สคบ. จึงเป็นเนื้อหาสำคัญที่ดีเอสไอจะต้องดูว่าตกลงแล้วบริษัทแห่งนี้ได้ดำเนินการผิดหลักเงื่อนไขตลาดแบบตรงของ สคบ. หรือกระทำผิดจากเหตุแชร์ลูกโซ่ พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า กรอบการดำเนินการสอบสวน หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ มีการวางโครงสร้างการดำเนินงานเบื้องต้น ดังนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการรับส่งสำนวนระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอไม่ว่าจะเป็นรายงานการสอบปากคำพยาน ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้น ยึดและอายัด จากนั้นดีเอสไอจะพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่าเข้าองค์ประกอบฐานความผิดแชร์ลูกโซ่อย่างไร โดยจะดูเรื่องความหมายของการกู้ยืมเงินเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และจะมีการประสานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่าแผนประทุษกรรมของแผนธุรกิจดังกล่าวนั้น ในฐานะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย วิเคราะห์แล้วมันเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะมันมีผลผูกพันกับอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ส่วนเรื่องการจะออกหมายเรียกแก่เหล่าบรรดาบอสต่าง ๆ นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนมาแล้ว ดีเอสไอก็จะมาดูพฤติการณ์ว่าจะต้องสอบสวนประเด็นใดเพิ่มหรือไม่ จึงจะออกหมายเรียกบรรดาบอสเข้ามาสอบปากคำ พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินในส่วนของดีเอสไอนั้น เราจะดูรายได้ของบริษัททั้งหมด เพราะแผนธุรกิจของบริษัทฯ เป็นการประกอบธุรกิจตลาดขายตรงโดยที่มีการจดทะเบียนถูกต้องจาก สคบ. เราจึงต้องไปดูระบบการเงินก่อน อย่างไรก็ตาม ตนต้องชี้แจงว่าในขณะนี้ทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ยังมีโอกาสที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ชี้แจงข้อเท็จจริง และสามารถนำพยานหลักฐานที่จะชี้แจงเข้าสำนวนของพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งตรงนี้ดีเอสไอจะใช้อำนาจของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 7 เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รายงานสถานภาพการประกอบธุรกิจ และจะได้ส่งพยานหลักฐานที่ดำเนินการอยู่มาให้ดีเอสไอ เพื่อเอาข้อเท็จจริงมากางดูต่อไป “ขั้นตอนในวันนี้ ทาง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอดำเนินการตั้งเลขสืบสวนคดีพิเศษ คู่ขนานไประหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวนอยู่นั้น ดีเอสไอก็สามารถใช้อำนาจในการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสืบสวนคู่ขนานไปได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตำรวจเราก็จะส่งให้ ยืนยันว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างสองหน่วยงาน ทำงานซัพพอร์ตกัน แต่ถ้าเมื่อไรเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอก็จะมาเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกัน” พ.ต.ต.วรณัน ระบุปิดท้าย. ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวระดับสูง ว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ เรื่องของแผนธุรกิจ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เนื่องจากการลงทุนจะมีนิยามของการกู้ยืมเงินตามกฎหมายแชร์ลูกโซ่ แต่ในความเป็นจริงบริษัทดังกล่าว ไม่ได้ใช้คำที่บ่งบอกถึงลักษณะการเน้นหาสมาชิกโดยตรงแต่เป็นเรื่องของการหาตัวแทนจำหน่าย จึงทำให้ดีเอสไอต้องไปดูรายละเอียดและพฤติการณ์การกระทำจากพยานหลักฐานว่าเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเจ้าตัวจะต้องสู้เรื่องการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ. และอ้างว่าทำตามรูปแบบตลาดแบบตรง และแม้อ้างว่ามีผลิตภัณฑ์จำหน่ายจริง แต่ก็เป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะต้องไปดูลักษณะการกู้ยืม การเสนอผลตอบแทน มันเข้าลักษณะเเชร์ลูกโซ่หรือไม่ และเศรษฐกิจการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานคำนวณแผนธุรกิจที่บ่งชี้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ก็จะต้องให้ความเห็นในเรื่องนี้ด้วย