ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำส่งอวัยวะหัวใจ ดวงที่ 103 สำเร็จลุล่วง

วันที่ 13 ต.ค. 2567 เวลา 11:34 น.

13 ตุลาคม ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอด 31 ปี ช่วยเหลือประชาชนตามแนวทางที่ทรงวางไว้ ล่าสุดนำส่งอวัยวะหัวใจ ดวงที่ 103 สำเร็จลุล่วง นำส่งอวัยวะหัวใจ ดวงที่ 103 สำเร็จ วันนี้ (13 ตุลาคม 2567) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ “วันนวมินทรมหาราช” สำนักงานตำรวจแห่งชาติน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพสกนิกร คือ “ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ” เนื่องจากทรงเป็นห่วงพสกนิกรในเรื่องปัญหาการจราจร จึงพระราชทานแนวทางปฏิบัติให้แก่ตำรวจเพื่อเป็นแนวคิดไปใช้ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งพระราชทานทุนจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ รถจักรยานยนต์พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และพัฒนาบุคลาการเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจร อันจะบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2536 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 31 ปี ปัจจุบันตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร มีหน้าที่ในการบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด และช่วยเหลือประชาชนในกรณีพิเศษ เช่น การช่วยเหลือหญิงที่ท้องแก่ใกล้คลอด หากได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบและอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรนำส่งโรงพยาบาล หากเห็นว่าควรจะทำคลอดก็จะดำเนินการทำคลอดให้ทันที นอกจากนี้ ยังได้จัดทีม "ตำรวจช่าง" ลงพื้นที่กระจายตามจุดต่าง ๆ เพื่อช่วยซ่อมรถให้กับประชาชนที่จอดเสียบนท้องถนนในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด อีกหนึ่งภารกิจที่ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง คือภารกิจนำส่งอวัยวะหัวใจ ต่อลมหายใจชีวิต ซึ่งอวัยวะหัวใจหากทำการผ่าตัดออกมาจากร่างกายของผู้บริจาคแล้วจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง นับจากเวลาที่ปิดทางเดินเลือดในการผ่าตัดหัวใจของผู้บริจาค จนกระทั่งเปิดให้เลือดผ่านหัวใจใหม่ในร่างกายของผู้รับการปลูกถ่าย จึงเป็นภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลา ยิ่งการเดินทางในกรุงเทพมหานครนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมารถนำส่งได้โดยใช้เวลาอันสั้น