องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ที่จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 11 ต.ค. 2567 เวลา 20:04 น.

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ไปตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ เมื่อปี 2532 โดยโครงการหลวงมอบให้สถานีเกษตรหลวงปางดะ ขยายงานส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ที่มีความเดือดร้อนเรื่องการจำหน่ายผลผลิตเกษตร นำผลผลิตเข้าระบบการจัดการของโครงการหลวง ต่อมาปี 2544 ได้จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ อย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 11 กลุ่มบ้าน สมาชิกเกษตรกรภายใต้การส่งเสริมอาชีพของโครงการหลวง ประกอบด้วย ชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ ลีซู และคนพื้นเมือง รวม 591 ครัวเรือน ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร จากกรมป่าไม้ ตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ พศ. 2507 โดยพืชที่ส่งเสริม อาทิ แตงกวาญี่ปุ่น ถั่วแขก ผักกาดขาวปลี อาโวคาโด ข้าวไร่ และชาอัสสัม ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และกาแฟ ซึ่งเป็นระบบปลูกภายใต้ร่มเงา รวมทั้งส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหัตถกรรมผ้าทอ การทำหมอนใบชา จักสานตะกร้าจากไม้ไผ่ และการทำไม้กวาด ในช่วงบ่าย ไปติดตามการดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำโครงการหลวงหนองหอย อำเภอแม่ริม หนึ่งในพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรถึง 6 ครั้ง ปัจจุบัน ภารกิจส่งเสริมอาชีพ จากพื้นที่เดิมที่มีการปลูกฝิ่น ได้พัฒนาส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาติพันธุ์ม้ง ลีซู ยูนนาน และชาวพื้นเมือง จำนวน 5 หมู่บ้าน 753 ครัวเรือน โดยพืชส่งเสริมหลัก ได้แก่ ผักตระกูลสลัด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี และสมุนไพรเขตหนาว รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตชาสมุนไพรสด 7 ชนิด ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค โดย องคมนตรี ได้มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ คือ ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษาสิ่งที่ดีให้มีความต่อเนื่อง และต่อยอดงานที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อเป้าหมายการสร้างความผาสุก พร้อมทั้งทบทวนภารกิจหลักที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งด้านการทำเกษตรที่ถูกหลักวิธี และการบริหารจัดการดิน น้ำ และป่า เพื่อสร้างสมดุลแก่พื้นที่ภายใต้กฎหมายรองรับ ส่วนอ่างเก็บน้ำโครงการหลวงหนองหอย ซึ่งมีแผนขุดลอกเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการเกษตร ทั้งในพื้นที่แปลงสาธิตของศูนย์เรียนรู้วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชโครงการหลวง และแปลงเกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่ 124 ไร่ รวมทั้ง ตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างโรงผลิตน้ำดื่มโครงการหลวง ซึ่งดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในดิน ที่มีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์น้ำสำหรับการบริโภคโดยไม่ต้องผ่านระบบปรับปรุงคุณภาพ และยังเป็นน้ำแร่จากแหล่งน้ำระดับความลึก 150 เมตร