คดีล้มล้างการปกครอง วิบากกรรมชั้น 14 พุ่งเป้าทักษิณ อุ๊งอิ๊ง

วันที่ 11 ต.ค. 2567 เวลา 10:30 น.

จตุพร มองคำร้องส่งศาล รธน. คดีล้มล้างการปกครอง 6 ข้อหา วิบากกรรมชั้น14 ครอบงำพรรค พุ่งเป้าทักษิณ อุ๊งอิ๊ง คดีล้มล้างการปกครอง วานนี้ (10 ต.ค.67) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ระบุว่า พรรคเพื่อไทยแสดงอาการปรามาสกลบเกลื่อนดูแคลนคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมีพฤติการณ์ล้มการปกครอง หากเชื่อมสถานการณ์ไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนกรณีชั้น 14 แล้ว แม้สาระสำนวนเน้นตัวผู้กระทำการแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์เป้าหมายกลับพุ่งชนไปที่นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน ดังนั้น คำร้องจึงไม่ธรรมดา ข้อความตอนหนึ่ง นายจตุพร ระบุด้วยว่า การสอบสวนกรณีชั้น 14 ของ ป.ป.ช.นั้น ได้ออกหนังสือถึง รพ.ตำรวจ 2 ครั้งเพื่อขอเวชทะเบียนหรือบันทึกประวัติทางการแพทย์ของนายทักษิณ ผู้ป่วยและบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ยังไม่ได้รับ หากต้องออกหนังสือขอเวชทะเบียนเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เมื่อยังไม่มีคำตอบอีกจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นผลจากยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย และรัฐบาลได้ถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า นายทักษิณ เคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับได้ทำความผิดจริง และสำนึกการกระทำแล้ว แต่กลับไม่ติดคุกสักวันเดียว ย่อมเป็นพฤติกรรมส่งผลกระทบต่อพระบรมราชโองการ สิ่งสำคัญ การสอบสวนของ ป.ป.ช. ได้เน้นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ หากพบความผิดจริง จะถูกส่งฟ้องไปที่ศาลอาญาคดีทุจริต ส่วนนักการเมืองจะยื่นต่อศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรืออีกอย่างอาจออกคำสั่งให้กรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณกลับไปขังคุกก็ได้ ดังนั้น สถานการณ์ยื่นคำร้องจึงมากด้วยวิบากกรรมให้ทักษิณและเพื่อไทยต้องหวาดผวาและต่อสู้ก้าวข้าม ส่วนทนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐ รธน.ให้วินิจฉัยทักษิณและพรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น นายจตุพร เชื่อว่า ในเบื้องต้น ศาล รธน.จะรับคำร้องไว้ไต่สวน ทั้งนี้คำร้องของนายธีรยุทธ ยื่นกล่าวโทษ 6 ข้อหา โดยเนื้อหาสำคัญหลักอยู่ที่ข้อที่ 1 เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยให้รัฐบาลจัดที่พักชั้น 14 รพ.ตำรวจ ให้นายทักษิณ เข้าพักระหว่างต้องโทษจำคุก จึงเป็นการบ่อนทำลายพระเกียรติยศฯ ส่วนข้อที่ 2 ถึง 6 ให้วินิจฉัยพฤติการณ์แวดล้อมกรณีครอบครอง ครอบงำพรรคเพื่อไทยให้ทำตามความต้องการของนายทักษิณ นายจตุพร กล่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนมีอารมณ์สบายใจ โดยปรามาสว่า คำร้องของนายธีรยุทธ เบาหวิว เพราะเหตุแห่งคำร้องไร้น้ำหนักเอาผิดหรือเล่นงานนายทักษิณและนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ แต่เมื่อพิจารณาเงื่อนเวลาแล้ว คำร้องของนายธีรยุทธ ดูเหมือนสอดรับกับการสอบสวนของ ป.ป.ช. ซึ่งอยู่ในขั้นสุดท้าย ใกล้ขมวดปมการไต่สวนกล่าวโทษ ดังนั้น อาจส่อถึงมีผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับคำร้องที่ยื่นต่อศาล รธน. อย่างไรก็ตามทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ ล้วนโยงเอกสารผลสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาเป็นหลักฐานสำคัญเหมือนกัน ดังนั้น ย่อมไม่ซ้ำซ้อนกัน "เรื่องชั้น 14 มาถึงศาล รธน.ก่อนคำร้องอื่นอีกมากมายที่ยื่นไปแล้ว และเชื่อว่า คำร้องสนามกอล์ฟอัลไพน์คงถูกยื่นต่อศาล รธน.ถัดจากนี้ไปเพื่อให้วินิจฉัยพฤติการณ์นายกฯ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม เช่นเดียวกับการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ให้ยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ” นอกจากนี้ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองเลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานี ครั้งแรก ยิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากรณีชั้น 14 ดังนั้น ในบรรดาคำร้องจำนวนมากที่ยื่นให้ตรวจสอบ หากมีเพียงคำร้องเดียวถูกวินิจเป็นความผิด ย่อมเกิดความเป็นไปทางการเมืองและส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อีกครั้ง “สำนวนการเขียนของนายธีรยุทธ เน้นอยู่ที่ข้อแรก และกรณีชั้น 14 ยังมีพยาน แสดงว่ามีของในมือแล้ว รวมทั้งพยานในบ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการครอบงำ ถ้ามีคลิปเสียงสามารถเปิดในชั้นศาลได้ ดังนั้น จึงเป็นลีลาที่ไม่ธรรมดา และไม่ใช่ดาบเดียว แต่มีหลายดาบที่รอประหารกันอยู่”