คนไร้บ้านพุ่ง สำรวจพบ 2,499 คน เกินครึ่งเป็นวัยกลางคน
วันที่ 8 ต.ค. 2567 เวลา 15:52 น.
หวั่นคนไร้บ้านพุ่ง ผลสำรวจปี 66 พบ 2,499 คน เกินครึ่งเป็นวัยกลางคน สาเหตุจากตกงาน-ปัญหาครอบครัว สสส. พร้อมภาคีเครือข่ายหนุนเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการ ช่วยให้ตั้งหลักชีวิตได้อย่างมั่นคง วันนี้ (8 ต.ค. 67) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน แถลงผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกสถานการณ์คนไร้บ้านปี 2566 นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือน พ.ค. ปี 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน สาเหตุหลักมาจาก ไม่มีงานทำ ตกงาน 44.72%รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่ คือ วัยกลางคน อายุ 40-59 ปี 56.8% หรือ 1,419 คน รองลงมาวัยสูงอายุ 22% หรือ 553 คน ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัด คือ ติดสุรา 18.1% มีปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ในจำนวนนี้มีแนวโน้มความรุนแรงเพียง 1-2% นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30% และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปีมากถึง 27%โดยในจำนวนนี้พบคนไร้บ้านเลือกอยู่ตามลำพังกว่า 74.1% “สสส. ร่วมกับ พม. และภาคีเครือข่าย สานต่อโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง พัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม รวมถึงสุขภาพคนไร้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้านสูงอายุที่มีสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น จึงต้องมุ่งเน้นการหานวัตกรรมที่สามารถดูแลคนไร้บ้านสูงอายุได้อย่างครอบคลุม” นางภรณี กล่าว นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านสัมพันธ์กับความเสี่ยงทางสังคมเศรษฐกิจมีมิติที่ซับซ้อนอย่างมาก โดยหลังจากได้ข้อมูลประชากรคนไร้บ้านแล้ว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจุฬาฯ และภาคีเครือข่าย จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อวางแผนสำรวจคนไร้บ้าน ในวิธีสุ่มตัวอย่างนับจำนวน ช่วยให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้อย่างแม่นยำ และสนับสนุนการออกแบบเชิงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน