น้ำท่วมลำพูน ชาวบ้านขนของหนี กระทบ 1,000 หลังคาเรือน

วันที่ 8 ต.ค. 2567 เวลา 16:04 น.

ข่าวเย็นประเด็นร้อน - เมื่อคืนนี้ มวลน้ำทะลักเข้าในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ และตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายจุดพบว่าน้ำมาเยอะและเร็วมาก ชาวบ้านพากันอพยพออกนอกพื้นที่ ขนของหนีน้ำ ! กระทบ 1,000 หลังคาเรือน จ.ลำพูน มวลน้ำปิงที่ล้นตลิ่งท่วมเมืองเชียงใหม่ ก่อนลดระดับลง แต่หลากลงท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ไหลหลากเข้าสู่เขตตำบลอุโมงค์ ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน อย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลางดึกที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำได้เพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น. ชาวบ้านตำบลหนองช้างคืน หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 หวั่นวิตกว่าน้ำจะเพิ่มขึ้นจนเกินจะต้าน ทำให้ต้องพากันขนกิ่งตอนลำไยที่กำลังจะจมน้ำ ขึ้นไปไว้บนที่สูง ส่วนบ้านไหนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ต่างก็จูงขึ้นไปอยู่บนถนนที่น้ำท่วมไม่ถึง รวมถึงนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดเรียงรายอยู่บนถนนเพื่อหนีน้ำ พื้นที่รับน้ำมากที่สุดจะเป็นพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านหัวฝาย ตำบลหนองช้างคืน ที่ระดับน้ำสูงสุดบางจุดกว่า 2 เมตร หลายครอบครัวต้องไปอาศัยนอนที่ศาลาวัดหัวฝายแทน เพราะน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเข้าบ้านได้ โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียว น้ำท่วมจนถึงครึ่งหลัง บางรายต้องพากันหอบข้าวของ และที่นอนมานอนริมถนน สายป่าเหว-หนองช้างคืน ล่าสุด มวลน้ำจากเขตอำเภอสารภี ยังคงไหลเข้าสู่เขตตำบลอุโมงค์ ตำบลหนองช้างคืน ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน และเขตอำเภอป่าซาง ที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 5 ตุลาคมเป็นต้นมา ทำให้ขณะนี้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายขยายวงกว้าง มากกว่า 1,000 หลังคาเรือน บางจุดน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร พื้นที่สวนลำไยก็เสียหายมากกว่า 500 ไร่ แล้วขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แม้แม่น้ำกวงจะยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมากก็ตาม เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง จ.ลำพูน ด้าน กรมชลประทาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำต่าง ๆ ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ประตูระบายน้ำปิงห่าง, ประตูระบายน้ำร่องกาศ, ประตูระบายน้ำปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และประตูระบายน้ำล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำสบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด ส่วนปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดลำพูน เป็นปริมาณน้ำในระดับสูงสุดแล้ว โดยหลังจากนี้ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว คาดว่าอีก 1-2 วัน ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง และหากไม่มีฝนตกหนัก และไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์ในภาพรวมจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ สำหรับแม่น้ำกวงในเขตจังหวัดลำพูน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่เป็นพื้นที่ให้น้ำไหลผ่านลงไปสู่น้ำปิง ซึ่งจะรักษาระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในขณะนี้จังหวัดลำพูน มีเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงาน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมกัน 56 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำปิงโดยเร็วที่สุด น้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอ จมเกือบทุกหลัง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นวงกว้าง หลังจากล่าสุดมีการระบายลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะระบายแบบเป็นขั้นบันไดถึง 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับ มีมวลน้ำฝนที่ตกลงมาใต้เขื่อน ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ได้รับผลกระทบจำนวนทั้งหมด 7 อำเภอ 97 ตำบล 578 หมู่บ้าน 23,497 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีวัดอีก 14 แห่ง, มัสยิด 2 แห่ง,โรงเรียน 21 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง), สถานที่ราชการ 5 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปอย่างมาก บ้านเรือนประชาชนจมน้ำเกือบทุกหลัง บางพื้นที่ลุ่มต่ำก็ท่วมถึงบ้านชั้นสอง ต้องหนีน้ำนานกว่า 2 เดือน สั่งเปิดประตูระบายน้ำ ผันน้ำลงทุ่ง จ.พระนครศรีอยุธยา ด้าน นายวันชัย ปังพูนทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม มีทุ่งรับน้ำถึง 6 ทุ่ง คือ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งบางกุ่ม โดยทุ่งรับน้ำทั้ง 6 ทุ่ง กินพื้นที่ครอบคลุม 12 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้มีการเปิดบานประตูระบายน้ำทั้งหมด ผันน้ำลงทุ่งแล้วทั้งหมด 4,000 ไร่ ปัจจุบันการระบายน้ำลงทุ่งเฉลี่ยวันละ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งระดับน้ำในทุ่งจะสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนของชาวบ้าน เตือน ! มรสุมถล่มภาคใต้ น้ำท่วมฉับพลัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ เริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้มีลมฝ่ายตะวันออก พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนบน ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ไฟเขียวเยียวยาน้ำท่วม ครัวเรือนละ 9,000 บาท มีข่าวดี ! นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอหลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือแบบเหมา จ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน คือ วงเงิน 3,045 ล้านบาท ส่วนกรณีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากโคลน นอกจากการเยียวยาเหมาจ่ายแล้ว จะมีการเยียวยากรณีพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กรณีที่หนักจริง ๆ มีกรอบที่เคยขยายไปแล้ว ซึ่งทางมหาดไทยก็ได้เสนอในที่ประชุม ครม. ฉะนั้นกรณีต่าง ๆ อาจต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกทีหนึ่ง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยดูในพื้นที่ ฝุ่นมาแล้ว ! PM 2.5 เกินมาตรฐาน ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร ขอสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันนี้ เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 22.6-46.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 32.9  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 16 พื้นที่ อาทิ หนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 วัดได้ 46.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) วัดได้ 44.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงมีข้อแนะนำคุณภาพอากาศระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนควรป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร