PM 2.5 กทม. เช้านี้เกินมาตรฐาน 16 พื้นที่ แนวโน้มเพิ่มขึ้น

วันที่ 8 ต.ค. 2567 เวลา 10:40 น.

วันนี้ (8 ต.ค. 67) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกทม. วันนี้เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่น PM 2.5 ตรวจวัดได้ 23-46.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวนทั้งหมด 16 พื้นที่ คือ 1. เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 46.7 มคก./ลบ.ม. 2. เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) : มีค่าเท่ากับ 44.7 มคก./ลบ.ม. 3. เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ : มีค่าเท่ากับ 43.3 มคก./ลบ.ม. 4. สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา : มีค่าเท่ากับ 42.5 มคก./ลบ.ม. 5. เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ : มีค่าเท่ากับ 41.7 มคก./ลบ.ม. 6. เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัย : มีค่าเท่ากับ 41.5 มคก./ลบ.ม. 7. เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า : มีค่าเท่ากับ 41.3 มคก./ลบ.ม. 8. เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ : มีค่าเท่ากับ 41.2 มคก./ลบ.ม. 9. เขตบางบอน ใกล้ตลาดบางบอน : มีค่าเท่ากับ 40.5 มคก./ลบ.ม. 10. เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : มีค่าเท่ากับ 39.9 มคก./ลบ.ม. 11. เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม. 12. เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม. 13. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : มีค่าเท่ากับ 38.7 มคก./ลบ.ม. 14. เขตราษฎร์บูรณะ ภายในสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ : มีค่าเท่ากับ 38.4 มคก./ลบ.ม. 15. เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี : มีค่าเท่ากับ 38.1 มคก./ลบ.ม. 16. สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ : มีค่าเท่ากับ 37.8 มคก./ลบ.ม. แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 8-16 ต.ค. 67 การระบายอากาศ ที่อยู่ในเกณฑ์ "ไม่ดี" อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเกิดฝนตกตลอดช่วง และเนื่องจากช่วงนี้เริ่มมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนตอนใต้ ทำให้เกิดภาวะ Inversion คือการที่อากาศด้านบนกดทับอากาศด้านล่าง ส่งผลให้มลพิษไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ และลมที่พัดเบา ประกอบกับชั้นอากาศที่สามารถผสมกันได้มีความสูงน้อย (ชั้นความสูงผสม: Mixing Height ต่ำลง) จึงทำให้อัตราการระบายอากาศไม่ดี (Ventilation Rate ต่ำ) ซึ่งทำให้มลพิษสะสมอยู่ในอากาศเพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จังหวัดด้านเหนือของ กทม. ไปถึงภาคกลางตอนล่าง เริ่มมีจุดความร้อนเกิดมากขึ้น คือมีการเผาชีวมวลจากการเกษตร ประกอบกับมีลมจากตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงมา สามารถนำพาเอาฝุ่น PM 2.5 จากนอกพื้นที่กทม. เข้ามาทางด้านตะวันตกของกทม. ได้ ทำให้พื้นที่ด้านตะวันตกของกทม. มีฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นในช่วงนี้