ผู้ว่าฯชัยภูมิ เรียกประชุมเตรียมรับมือภัยแล้ง ฝนหมดเขื่อนจุฬาภรณ์เพิ่งเก็บน้ำได้เพียง 64%

วันที่ 8 ต.ค. 2567 เวลา 08:57 น.

วันนี้ (8 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังร่องมรสุมพาดผ่านสลายตัวลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคณะทำงานติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ล่าสุด สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดชัยภูมิ รายงานว่าหลังเกิดมรสุมพาดผ่านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ แต่ได้เกิดฝนตกมาน้อย ไม่เป็นตามคาดหมาย รวมทั้งในพื้นที่จากกการติดตามโครงการชลประทานในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาพรวมทั้งหมด มีน้ำเก็บกักในแหล่งเก็บกักน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และกลางทั้งหมดรวม 14 แห่ง มีน้ำเหลือเก็บกักส่วนใหญ่ยังน้อยมาก ตั้งแต่ 40-70 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เต็มความจุเพียง 3 จุด ที่เขื่อนลำปะทาวล่าง อ่างเก็บน้ำช่อระกา และอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร อ.ภูเขียว โดยในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ มีเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเขื่อนจุฬาภรณ์เก็บกักน้ำได้ 164 ล้าน ลบ.เมตร แต่มีน้ำเข้าเขื่อนเพียง 105 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 64% ของการเก็บกัก และน้ำใช้งานได้มีเพียง 54% เท่านั้น ในภาพรวมถือว่า จ.ชัยภูมิ ปีนี้น้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นายอนันต์ ได้ให้ทุกภาคส่วนราชการได้เตรียมแผนเพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ต่อจากนี้ไปยาวข้ามปีไปจนถึงปีหน้า 2568 นี้ด้วย ซึ่งจะต้องมีแผนการจัดการบริหารการน้ำที่เหลือเก็บกักทั้งหมดใน จ.ชัยภูมิ ในทุกพื้นที่ที่ถือว่ามีน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่จากนี้ไปต้องมีการใช้น้ำกันอย่างประหยัด และให้คุ้มค่ามากขึ้น ที่ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนน้ำผลิตประปา น่าจะไม่มีผลกระทบยาวไปถึงปีหน้าได้ แต่ในส่วนน้ำด้านการเกษตรที่อาจจะมีไม่เพียงพอ ที่จะต้องมีการบริหารจัดงานน้ำที่นำไปใช้ด้านการเกษตรให้คุ้มค่าให้ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพจากการเกษตรที่คุ้มค่า หากจุดไหนหรือในพื้นที่ใด ทุกในทุกอำเภอจะต้องมีความชัดเจนในการจัดการบริหารน้ำที่เห็นว่าหากจะปลูกข้าวนาปรังแล้วไม่คุ้มค่ามีน้ำไม่เพียงพอ ก็ควรจะสร้างอาชีพจากการเกษตรด้วยการปลูกพืชประเภทอื่นที่ใช้น้ำน้อย ที่ก็จะพอทำให้ประชาชนมีการเพาะปลูกมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ แทนได้เช่นกัน นายอนันต์ ยังบอกอีกว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่มีความชื้นสูงอยู่ พื้นที่เก็บน้ำตามเขื่อนที่ยังมีน้ำน้อย คงต้องเร่งขอให้มีการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ เพิ่มเติมได้บางเล็กน้อยไม่มากนัก ซึ่งจากนี้ไปแต่ละพื้นที่ จ.ชัยภูมิ จะต้องช่วยกันหาแหล่งเก็บกักน้ำในส่วนพื้นที่ที่ยังน้ำล้นออกมาขณะนี้บางส่วน เพื่อหาแหล่งระบายไปช่วยกันเก็บกักไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งในปีนี้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งการกินการใช้ และการเกษตร ก่อนที่จะมีฝนตกลงมาในปีหน้า