จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอ่วม น้ำขึ้นรวดเร็ว

วันที่ 7 ต.ค. 2567 เวลา 09:39 น.

ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง ชาวบ้านเร่งเก็บพืชผล และเคลื่อนย้ายสัตว์ หลังเขื่อนฯเพิ่มการปล่อยน้ำไม่เกิน 2500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันนี้ (7 ต.ค.67) เมื่อเวลา 06.00 น. แม่น้ำเจ้าพระยา จาก จ.นครสวรรค์  และ แม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี  ที่ไหลไปรวมกัน ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท  มีปริมาณ 2,651 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที    กรมชลประทาน ได้เพิ่มการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 425 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 452 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท ลดลงจากเมื่อวาน 2 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.29 เมตร(รทก) น้ำระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา  2,199 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท สูงขึ้นจากเมื่อวาน 13 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 15.10 เมตร(รทก)  จ.ชัยนาท สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ม.4 และ ม.7 ต.ธรรมามูล อ.เมืองได้ขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากคันดินที่ทำกั้นน้ำไว้บริเวณ ม.4 ได้พังลงมา ทำให้น้ำหลากท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ขยายวงกว้างมากขึ้น   น้ำท่วมสูงประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร  ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของ รถยนต์ รถจักรกลการเกษตร และสัตว์เลี้ยงโคกระบือ หนีน้ำไปไว้บนถนน   ขณะที่ เกษตรกร ต้องเดินลุยน้ำไปเก็บข้าวโพดหวานที่กำลังให้ผลผลิต และต้องเร่งมือเก็บให้หมดภายใน 2 วัน  ก่อนที่ข้าวโพดจะถูกน้ำท่วมตาย  จ.อ่างทอง ขณะที่ ชาวโผงเผง  ต้องย้ายนอนริมถนนหลังน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร และต้องใช้เรือในการเดินทางเข้าออกบ้าน โดยชาวบ้านหลายรายเริ่มมีอาการเครียดกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงตลอดเวลาแม้พื้นที่นี้จะถูกน้ำท่วมทุกปี ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทองประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อม ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคกลาง รายงานระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทอยู่ที่  2,199 ลบ.เมตร/วินาที ทำให้ระดับน้ำที่สถานีชลมาตร C7A สำนักชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองระดับน้ำอยู่ที่ 8.20 เมตร/รทก.เพิ่มขึ้น25 ซม. โดยทางจังหวัดอ่างทองขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ระดับน้ำเกินจุดวิกฤติที่ 8.00 เมตรไปแล้ว 20 ซม. ซึ่งพื้นที่อ่างทองมีน้ำท่วมแล้ว 3 อำเภอคือ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ มีบ้านเรือนได้รับบผลกระทบแล้วกว่า 300 หลังคาเรือน จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วขยายวงกว้างท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูงจนถึงพื้นบ้าน ชาวบ้านบ้างต้องรื้อกระดานพื้นบ้านมาเสริม ต่อเป็นชั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย  นางจรูญ ชาวบ้านอำเภอเสนา กล่าวว่าบ้านตนเองถูกน้ำท่วมพื้น ต้องยกพื้นขึ้น จนเกือบถึงหลังคา กลางวันนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะทนความร้อนจากหลังคามันร้อนจัด ต้องออกมาลอยเรืออยู่ด้านนอกแทน   ขณะที่นายวันชัย  กลั่นดี อายุ 67 ปี ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องอดทนต่อความร้อนในบ้าน เพราะไม่มีที่จะอยู่ บ้านถูกน้ำท่วมถึงพื้นบ้านต้องยกระดับอยู่ เวลาประกอบอาหารก็ต้องลุยน้ำไปทำอาหารกิน ถูกน้ำกัดเท้าคันไปหมด ได้รับความเดือนร้อนอยากมากในตอนนี้