บิ๊กต่ายสั่งผู้การปากน้ำเร่งสอบเคส “ร้อยเวร” อมเงิน ผิดจริงไม่เอาไว้

วันที่ 6 ต.ค. 2567 เวลา 15:45 น.

บิ๊กต่ายสั่งผู้การปากน้ำ เร่งตรวจสอบเคส “ร้อยเวร” อมเงินไกล่เกลี่ยคดีเช็คเด้ง หากผิดจริงสั่งเชือดเอาผิดทั้งวินัย อาญา เก็บตำแหน่งสัญญาบัตรไว้ให้ตำรวจดี ๆ ความคืบหน้าคดีฉาว “ร้อยเวรอมเงิน" วันนี้ (6 ต.ค.67) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากกรณีปรากฏเป็นข่าว สาวร้องสายไหมต้องรอด ถูกร้อยเวรเชิดเงิน หลังไกล่เกลี่ยลูกหนี้คดีเช็คเด้ง ให้ผ่อนจ่ายเป็นงวด สุดท้ายโดนตำรวจอมเงินไม่ส่งคืนเจ้าหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้สั่งการไปที่ พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ให้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก หากพบว่ากระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาจะต้องพิจารณาทั้งทางวินัยร้ายแรง และทางอาญา โดยไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นบรรทัดฐานที่ดีกับตำรวจที่กระทำผิด เอาตำแหน่งให้ตำรวจดี ๆ ขึ้นมาเป็นสัญญาบัตรดีกว่า และหากเด็ดขาดแบบนี้ จะทำให้ประชาชนเขาเชื่อใจว่าตำรวจไม่ช่วยกันและทำตรงไปตรงมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เหตุจาก น.ส.วนิศา อายุ 34 ปี ร้องขอความช่วยเหลือ จากนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ว่าถูกตำรวจ สน.สำโรงใต้ โกงเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ฝากให้มาใช้หนี้ผ่านตำรวจ คดีนี้ผู้เสียหาย เล่าว่า ตนทำธุรกิจโรงกลึง ในอำเภอแพรกษา จ.สมุทรปราการ แต่เมื่อปี 2564 ถูกลูกค้ารายหนึ่งจ่ายเช็คเด้งมูลค่า 642,252.10 บาท จึงไปได้แจ้งความดำเนินคดีที่ สน.สำโรงใต้  มีนายตำรวจยศ ร.ต.อ. ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน เป็นผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวและมีการเจรจาไกล่เกลี่ย จนคู่กรณียอมชดใช้เงินคืนให้เต็มจำนวนและทำบันทึกข้อตกลง ตั้งแต่ตุลาคม 2566 ทุกครั้งที่ผ่านมา ลูกหนี้นำเงินมาคืนจะต่อหน้าตำรวจ และจะแบ่งเปอร์เซ็นรองสารวัตร 10% ของยอดเงินทั้งหมด ลูกหนี้ใช้หนี้ได้เกือบ 3 แสนบาทแล้ว กระทั่งเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่สามารถติดต่อรองสารวัตรได้เลย อดีตสามีได้สอบถามจากลูกหนี้ ได้รับการยืนยันว่านำเงินมาฝากไว้กับตำรวจแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 67จำนวน 2 หมื่นบาท และเมื่อวันที่ 6 ก.ย.67 จำนวน 10,000บาท จึงพยายามติดต่อไปสอบถามยัง รองสารวัตร จนเจ้าตัวยอมรับว่ารับเงินมา 30,000 บาท และนัดไปรับเงินในช่วงสิ้นเดือนก.ย.67 แต่เมื่อถึงกำหนดนัด ตำรวจไม่ติดต่อมา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เงินและไม่สามารถติดต่อตำรวจได้ ทำให้กังวลว่าจะไม่ได้เงินคืน และอาจทำให้ลูกหนี้ใช้เป็นข้ออ้างในการเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ที่เหลือจนหมดอายุความ ด้านนายเอกภพ กล่าวว่า ตำรวจไม่ควรรับเงินจากผู้เสียหาย แต่ตนเข้าใจว่า 10% ผู้เสียหายเต็มใจจะให้เป็นสินน้ำใจ จึงขอให้รองสารวัตรนำเงินมาคืน เพราะเข้าข่ายความผิดฐานยักยอกเงิน