ฝังกลบ พลอยทอง-ฟ้าใส ถูกน้ำป่าซัดล้ม
วันที่ 6 ต.ค. 2567 เวลา 16:38 น.
เจาะประเด็นข่าว 7HD - น้ำท่วม 1 ครั้ง ไม่ได้พรากไปเพียงทรัพย์สินหรือบ้านเรือน แต่พรากชีวิตทั้งคนและสัตว์ไปด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ข่าวการสูญเสียช้างตาบอด 2 เชือก เนื่องจากถูกน้ำป่าพัดไป นี่เป็นภาพตอนที่พบตัวพลอยทอง ช้างตาบอด อายุ 40 ปี กับ ฟ้าใส ช้างอายุ 16 ปี โดยการบินโดรน จะเห็นว่าทั้ง 2 เชือกอยู่กลางป่า ท่ามซากหักพังของต้นไม้ บริเวณหลังรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดบริบาลช้าง ประมาณ 4-5 กิโลเมตร หลังค้นหาตัวช้างพบแล้ว เจ้าของปางช้าง แสงเดือน ชัยเลิศ พร้อมเจ้าหน้าที่ก็เร่งเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ทันทีที่เห็นซากช้างกับตา แม่แสงเดือนถึงกับร่ำไห้ด้วยความอาวรณ์ ขณะเดียวกัน การจะฝังช้างที่ล้มพร้อมกัน 2 เชือก เต็มไปด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำรถแบ็กโฮกับรถเครนขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะต้องผ่านสะพานที่มีขนาดแคบและมีซากปรักหักพังปกคลุมพื้นที่เอาไว้ พระครูอ๊อด จากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จึงส่งช้าง 2 เชือก ที่เคยไถ่ชีวิต เข้าไปช่วยย้ายเศษซากท่อนไม้ขนาดใหญ่ออกจากคอสะพาน เพื่อเปิดทางให้กับเจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮขนาดเล็กเข้าไปขุดหลุมเพื่อฝังกลบช้าง 2 ตัว ที่ล้มไป หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงอพยพ พลอยทอง กับ ฟ้าใส ไม่ทัน ซึ่งเรื่องนี้นางแสงเดือน ชี้แจงว่าทันทีที่มีการแจ้งเตือนน้ำท่วมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทางปางได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายช้างทันที ซึ่งได้วันนั้น มีเพียงพลอยทองที่เกือบจะวิ่งไม่ทันเพื่อน เนื่องจากตาบอดสนิททั้ง 2 ข้าง แต่ก็มีเสียงเรียกจากเพื่อนช้างด้วยกัน ทำให้หนีจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างปลอดภัย จากนั้นจึงพาช้างทุกเชือกไปอยู่ในโรงนอนที่ศูนย์บริบาลช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่สูง แต่ก็ไม่คาดคิดว่าน้ำจะขึ้นมาถึงบนเขา แถมระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบมิดหลังคาโรงนอนของช้าง และด้วยกระแสน้ำที่รุนแรง จึงพัดพาตัวของพลอยทอง และช้างอีกหลายตัว ออกไปจากคอกต่อหน้าต่อตา ขณะที่ฟ้าใสเอง ตอนแรกหนีออกมาได้แล้ว แต่น้องวิ่งกลับไปช่วยเพื่อน จึงถูกกระแสตัวพัดพาไปอีกเชือก ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัวปางช้างโศกเศร้าที่ไม่สามารถรักษาชีวิตของน้อง ๆ ไว้ได้ ส่วนความเคลื่อนไหวในโซเชียล แบ่งเป็น 2 ฝั่ง เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยวิธีเลี้ยงช้างของปางช้างเเห่งนี้ นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่ง ระบุว่า "ขอร้องอย่าเพิ่งรีบก่อประเด็นดรามา เพราะหากกระแสสังคม ดันไปยึดติดดรามามากกว่าการช่วยช้างเเล้ว ผลเสียจะตกอยู่ที่ช้างและสัตว์ชนิดอื่น ๆ " นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า "ปางช้างนี้อาจประเมินวิกฤตต่ำกว่าความเป็นจริง เเละเมื่อมวลน้ำมาจริง ๆ ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายช้างที่เคยชินกับความอิสระได้ และไม่มีควาญช้างที่ควบคุมช้างได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าปางอื่น ๆ " พร้อมยืนยัน โดยอ้างคำพูดที่เคยคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติว่า "ศาสตร์การดูแลช้างของไทยที่แท้จริงนั้น ก่อเกิดจากความรักและความผูกพันที่ควาญและช้างมีให้แก่กัน ไม่ใช่มุ่งแต่จะทรมานหรือทารุณสัตว์พร่ำเพรื่ออย่างที่เข้าใจ และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้ประโยชน์เต็ม ๆ ในการรักษาชีวิตของช้างได้ จากการไว้ใจซึ่งกันและกัน" ขณะที่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ยืนยันว่า ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่พี่เล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ ทำเป็นวิธีการดูแลสัตว์ที่สุดโต่งอย่างที่บางคนพูดถึง ในทางกลับกัน มองว่าหากจะมีใครสักคนที่แปลงความเชื่อ เรื่องความเข้าใจชีวิตของสัตว์ป่า หรือ สัตว์เลี้ยง ไปสู่การปฏิบัติได้ดีที่สุดคนหนึ่ง เธอคือคน ๆ นั้น นายสมบัติ ยังบอกว่า พี่เล็ก แสงเดือน เป็นคนไทย ที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้จัก แต่เธอเป็นบุคคลระดับโลกในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของสัตว์ พร้อมกับเปรียบเทียบว่า ถ้าคนไทยรู้จัก สตีฟ เออร์วิน, เล็ก แสงเดือน ก็คือคน ๆ นั้นที่เป็นคนไทย ท้ายที่สุด มองว่ากรณีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่แม่แตง และมีเสียงตำหนิวิธีการจัดการของปางช้างของ พี่เล็ก แสงเดือน พวกคุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า เธอดูแลช้างนับร้อยตัว แต่ด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาลของจำนวนสัตว์ ทำให้จัดการได้ไม่หมดและเกิดการสูญเสีย นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกัน แต่เป็นเรื่องของการให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามนี้