เตือนชาว จ.นนทบุรี ยกของขึ้นที่สูง

วันที่ 6 ต.ค. 2567 เวลา 05:12 น.

สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเขื่อนเจ้าพระยา จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำเพิ่มแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือใน 1-7 วันข้างหน้า) ปภ.แจ้งเตือนพื้นลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ 10 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ โดยตั้งแต่ 01.00-04.00 น. ที่ผ่านมา เขื่อนเจ้าพระยา ทยอยเพิ่มอัตราระบายน้ำเป็น 2,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 60-70 เซนติเมตร เตือนชาว จ.นนทบุรี ยกของขึ้นที่สูง สภาพบ้านเรือนประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พบน้ำล้นตลิ่งเอ่อท่วมทางเดินแล้ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อนมากที่สุด คือ ปัญหาน้ำหนุนและเรือด่วนเจ้าพระยา ขับมาด้วยความเร็ว ทำให้เกิดคลื่นน้ำซัดฝาบ้านพังเสียหาย และบ้านบางหลังถึงกับทรุดตัวลงแม่น้ำ ล่าสุด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้ (6 ต.ค) เป็นต้นไป เขื่อนเจ้าพระยาจะปรับเพิ่มการระบายน้ำ และจะมีน้ำทะเลหนุนสูงตลอดเดือนตุลาคม โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-23 ตุลาคม ขอประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ให้ยกของขึ้นที่สูง และเสริมกระสอบทราย แนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงไว้ด้วย น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไชยฯ สูงขึ้น 50 ซม. จ.พระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกับหน้าวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงกว่าตลิ่ง 50 เซนติเมตร ยังไม่กระทบกับโบราณสถาน แต่บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองเมือง เช่นชุมชนหัวแหลม ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องทำสะพานและใช้เรือสัญจร ชาวสวนกล้วย ลุยตัดขุดหน่อหนีน้ำท่วม จ.อ่างทอง ขณะที่แม่น้ำน้อย ที่ไหลผ่านตำบลบางหัก อำเภอบางบาล น้ำได้ไหลบ่าข้ามถนนท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านต้องเร่งเก็บของหนีน้ำ แต่ด้วยความแรงของกระแสน้ำที่พัดผ่านตัวบ้าน ทำให้ต้องใช้เชือกดึงบ้านไว้ เพราะเกรงว่าน้ำจะพัดบ้านไปทั้งหลัง มาดูสวนกล้วยหลายสิบไร่ ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมืองอ่างทอง ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ เพียงคืนเดียวถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50-80 เซนติเมตร ทำให้สวนกล้วยเสียหายเกือบทั้งหมด เจ้าของสวนต้องลุยน้ำเข้าไปขุดหน่อ และตัดเครือกล้วยที่ยังพอตัดได้ออกมาไว้ในที่สูง แม้กล้วยจะยังไม่มีอายุพอที่จะตัดขาย แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ถูกน้ำท่วมเสียหายไปทั้งหมด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้ง 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ