สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นวันที่ 3

วันที่ 4 ต.ค. 2567 เวลา 20:04 น.

เวลา 08.53 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นวันที่ 3 โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย จำนวน 3,194 คน ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะรัฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย และวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ รวมทั้ง ผู้แทนขึ้นรับพระราชทานอนุปริญญาบัตร ผู้รับเหรียญรางวัลในหลักสูตรปริญญาบัณฑิต ผู้รับพระราชทานรางวัลและทุนการศึกษาในเงินทุนภูมิพล ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา จำแนกตาม 4 พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย เช่น ด้านการจัดการเรียนการสอน มุ่งสนับสนุนกระบวนการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ มีการใช้เทคโนโลยีผสมผสาน ทั้งยังมุ่งขยายโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่สังคม ในรูปการเรียนแบบ Non-degree และการสื่อสารองค์ความรู้ผ่านสื่อในวาระต่าง ๆ นอกจากการเรียนรู้ทางวิชาการ นิสิตจำเป็นต้องมีทักษะชีวิต เพื่อเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมการทำงาน พร้อมในการปรับตัว และการเรียนรู้ทักษะอันจำเป็นในการแก้ปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ด้านการวิจัย การบริหารงาน และส่งเสริมการวิจัย มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และยกระดับการพัฒนาด้านการวิจัยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด แข่งขันได้ในระดับโลก มุ่งสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้ ส่งเสริมสภาพแวดล้อม เพื่อการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูง เชื่อมโยงนักวิจัยกับชุมชน ประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานปริญญาบัตรแด่บัณฑิตที่เป็นพระสงฆ์และสามเณร 5 รูป ประกอบด้วย ดุษฎีบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา 2 รูป มหาบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา 2 รูป และมหาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาอุดมศึกษา 1 รูป