สคช. แนะใช้ประโยชน์ มาตรฐานอาชีพผู้ขับขี่-ติดตั้งก๊าซรถยนต์ หวังลดเหตุการณ์ซ้ำรอยไฟไหม้รถบัส

วันที่ 4 ต.ค. 2567 เวลา 16:46 น.

สคช. กระตุ้นหน่วยงาน-รัฐ ใช้ประโยชน์ มาตรฐานอาชีพด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้ขับขี่-ติดตั้งก๊าซรถยนต์ หวังลดเหตุซ้ำรอยไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา  วันนี้ (4 ต.ค.67) น.ส.จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ใกล้แยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้ครู-นักเรียนเสียชีวิต 23 ศพ บาดเจ็บ 3 ราย ว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในทุกอาชีพ และได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สถานประกอบการ สมาคม สมาพันธ์ คนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพขึ้นมารองรับเพื่อให้การรับรองคุณภาพของคนทำงาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สคช. มีมาตรฐานอาชีพ ในอาชีพผู้ขับขี่รถทัวร์โดยสาร, อาชีพช่างติดตั้งส่วนควบและอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง และอาชีพช่างติดตั้งส่วนควบและอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง แต่ยอมรับว่าผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ยังไม่ให้ความสำคัญหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง “เราเชื่อว่าหากผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนให้คนในอาชีพที่เกี่ยวกับการให้บริการรถสาธารณะ การติดตั้งก๊าซในรถต่าง ๆ ได้รับการอบรมที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ได้รับการประเมิน และรับรองสมรรถนะการทำงาน จะทำให้คนที่ใช้บริการเกิดความมั่นใจ หรืออุ่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ภารกิจของสถาบันไม่ได้เป็นภาคบังคับ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จึงต้องอาศัยกลไกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐมีอยู่ และทำอยู่จะช่วยลดอัตราการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้” น.ส.จุลลดา กล่าว  น.ส.จุลลดา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างกลไก ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการติดตั้ง การซ่อมบำรุงระบบก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ให้ผ่านกระบวนการอบรม และรับรอง (Certified) ตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้รู้ว่า คนที่ทำงานด้านนี้มีคุณภาพตามมาตรฐานการทำงานในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงสถานประกอบการก็ควรส่งเสริมให้ลูกจ้าง เข้าสู่กลไก อบรม ประเมินเพิ่มเติมความรู้ ขับเคลื่อนให้เป็นระบบ จะทำให้สังคมเกิดความปลอดภัยได้มากขึ้น คนใช้บริการก็จะมั่นใจมากขึ้นว่าใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน แม้อุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงจิตสำนึกของคนขับ แต่สมรรถนะการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ยืนยันได้มากกว่าการทำได้ ทำเป็น จากนี้จึงต้องช่วยกันนำมาตรฐานอาชีพที่มีอยู่ไปใช้ให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด