เตือนรับมือพายุอีก 1 ลูก เฝ้าระวังปลายฤดูฝนตกภาคกลาง-ภาคใต้
วันที่ 4 ต.ค. 2567 เวลา 07:41 น.
สนามข่าว 7 สี - สทนช. แจ้งว่า 2 สัปดาห์แรกของเดือนนี้ ปริมาณฝนในภาคเหนือและภาคอีสานลดลง แต่จะมีฝนปลายฤดูในภาคกลางและภาคใต้ และจะมีพายุฝนเข้ามาอีก 1 ลูก เร่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงลุ่มน้ำภาคกลาง เตือนเฝ้าระวัง ฝนตกภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ประชุมคณะทำงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ประเมินภาพรวมช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนนี้ ภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนลดลง เนื่องจากร่องความกดอากาศบริเวณพื้นที่ตอนบนของประเทศ จะขยับเลื่อนลง ส่งผลให้มีฝนตกบริเวณภาคกลางและภาคใต้ พร้อมกันนี้ต้องเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก ซึ่งทาง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามแนวโน้มการเกิดพายุ และทิศทางของพายุตลอดช่วงฤดูฝนนี้ น้ำท่วมโรงเรียน นักเรียนเดินลุยน้ำ จ.นครสวรรค์ ที่โรงเรียนบ้านลาด อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีน้ำจากลำคลองสาขาแม่น้ำยมท่วมสนามฟุตบอลโรงเรียนและในห้องเรียนเป็นวันที่ 3 โดยนักการภารโรงและครูได้ช่วยกันยกของขึ้นที่สูง ป้องกันความเสียหายก่อนหน้านี้ ขณะที่นักเรียนก็ลุยน้ำมาโรงเรียน ซึ่งที่นี่ยังไม่ปิดการเรียนการสอน เพราะอีกเพียงสัปดาห์เดียวก็จะปิดภาคเรียนตามกำหนดแล้ว ส่วนที่หมู่ 4 ตำบลบางพระหลวง เขตตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำปิงและแม่น้ำยม ทำให้มีระดับน้ำสูงขึ้น ท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตบางพระหลวงและหลายหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำทรงตัว จ.ชัยนาท ที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดวานนี้ (3 ต.ค.) อยู่ที่อัตรา 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แล้ว ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว และยังคงต้องระบายน้ำต่อเนื่อง รองรับน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมให้ไหลผ่านได้โดยเร็ว ขอให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย รวมถึงพื้นที่เสี่ยงลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เช่น คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน จ.สิงห์บุรี ส่วนที่จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ประมาณ 140 หลังคาเรือน โดยน้ำได้เข้ามาบริเวณชั้นล่างของบ้านแล้ว หากเขื่อนเจ้าพระยาประกาศระบายน้ำเพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถอยู่อาศัยที่ชั้นล่างได้ ขณะเดียวกัน ก็มีทหารเข้ามาช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ ขึ้นชั้นบน ด้านนายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรี ได้ระดมเจ้าหน้าที่เทศบาลพร้อมด้วยกำลังทหารและประชาชน ช่วยกันกรอกกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ เพื่อความปลอดภัยในช่วงที่น้ำเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเตรียมแผนบรรเทาอุทกภัยรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเรียบร้อยแล้ว เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จ.อ่างทอง ที่จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านต่างมาช่วยกันกรอกกระสอบทราย เตรียมทำแนวป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ รับมือสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นใกล้แตะจุดวิกฤตล้นตลิ่ง สอดคล้องกับเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาติดตั้งเพิ่มเติมบริเวณโรงสูบน้ำไฟฟ้า เพื่อให้ระบายน้ำได้ทัน โดยทางจังหวัดขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พบในพื้นที่มีน้ำท่วมแล้ว 2 จุด คือ ที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก และตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ สร้างคันดินกั้นน้ำยาว 800 เมตร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาได้สร้างคันดินกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สูง 2 เมตร ระยะทางยาว 800 เมตร รอบเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดและเป็นพื้นที่ต่ำสุดบริเวณเจดีย์ศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่เกาะเมืองฝั่งทิศตะวันตก ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี รองรับการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนที่วัดบุญกันนาวาส ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล มีน้ำล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมภายในวัด ท่วมพระพุทธรูปและเจดีย์ประจำวัดเป็นวงกว้าง รวมถึงท่วมบ้านเรือนประชาชน มีระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร บางจุดน้ำท่วมชั้นล่างของตัวบ้านเกือบทั้งหมด