สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 1

วันที่ 2 ต.ค. 2567 เวลา 20:08 น.

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 1 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เวลา 12.58 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ชั้น 10 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis ครั้งที่ 1 พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 300 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ทั้งนี้จะทรงบรรยายพิเศษพระราชทานใน 6 หัวข้อหลักที่สำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการศึกษาการเกิดโรคมะเร็ง โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการและขั้นตอนการเกิดโรคมะเร็ง เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ กลไกการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์และภายหลังจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง อันมีสาเหตุมาจากสารอะฟลาท๊อกซิน ที่พบในเมล็ดธัญพืชและสารไนโตรซามีนที่พบในปลาร้า กะปิ ส่วนกลไกที่ไม่ได้มีการทำลายดีเอ็นเอโดยตรง จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ที่นำไปสู่การเกิดมะเร็ง ซึ่งชีววิทยาเซลล์มะเร็ง จะแตกต่างจากเซลล์ปกติทั่วไป มีการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เพิ่มจำนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวโมเลกุลและชีวเคมีต่าง ๆ นำไปสู่การค้นพบยีนส์ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดมะเร็งที่เรียกว่า อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง และยีนที่ทำหน้าที่ต่อต้านการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นการยับยั้งและการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงการพัฒนาการรักษามะเร็ง สามารถทำได้ด้วยการรักษาแบบมุ่งเป้า ไปจนถึงการพัฒนายา และการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย สถิติการเกิดโรคมะเร็งในประชาชนนั้นเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทรงให้ความสำคัญกับการวิจัย เพื่อหาแนวทางการป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ และการรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ทรงแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทุกแขนงนำไปสู่การป้องกันและรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน