เงินเดือนช่วยเหลือ 3 กลุ่ม ต.ค.67 เช็กวันโอน ยังได้ต่อเนื่อง

วันที่ 2 ต.ค. 2567 เวลา 11:32 น.

อัปเดตเงินรายเดือน รัฐบาลช่วยเหลือ 3 กลุ่ม งวดเดือนตุลาคม 2567 เช็กวันโอน ยังได้ต่อเนื่อง เงินรายเดือนกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม รัฐสวัสดิการช่วยเหลือทุกเดือน รายละ 600-1,000 บาท ได้แก่ เงินอุดหนุนบุตร, เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินเบี้ยผู้พิการ งวดเดือนตุลาคม 2567 โอนเข้าบัญชีวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567 ช่องทางตรวจสอบสิทธิ เงินช่วยเหลือ 3 กลุ่ม โดยผู้ที่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิช่วยเหลือ เงินอุดหนุนบุตร, เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินเบี้ยผู้พิการ สามารถตรวจสอบเงินเข้าได้ตามช่องทาง ดังนี้ -แอปพลิเคชัน เงินเด็ก ดาวน์โหลดที่นี่ Google Play, App Store -แอปพลิเคชัน ทางรัฐ  ดาวน์โหลดที่นี่ Google Play, App Store -เว็บไซต์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตรวจสอบที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร เดือนตุลาคม 2567 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ สมาชิกครัวเรือนต้องมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี พ่อแม่จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน และไม่จำกัดจำนวนบุตร ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตรรายใหม่ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองรายใหม่ สามารถติดต่อลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตรได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ได้แก่ -กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ที่สํานักงานเขต​ -เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา -ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนตุลาคม 2567 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน รายละ 600-1,000 บาท ตามเกณฑ์อายุ ดังนี้ -อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน -อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน -อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน -อายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน โดยในแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ๆ มาลงทะเบียน ซึ่งการเปิดรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 2569 สามารถลงทะเบียนได้แล้ว ภายในเดือนตุลาคม 2567 ถึง กันยายน 2568 คุณสมบัติดังนี้ 1.เป็นผู้สูงอายุรายใหม่ และยังไม่เคยลงทะเบียน 2.สัญชาติไทย 3.เป็นผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2569 นับอายุจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2568 (เกิดตั้งแต่ 2 กันยายน 2508 - 1 กันยายน 2509) เอกสารที่ต้องเตรียม สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาหน้าสมุดบัญชี เพื่อขอขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สถานที่ลงทะเบียน โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ลงทะเบียน ณ สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เงินเบี้ยผู้พิการ เดือนกันยายน 2567 - ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 800 บาท - ผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 1,000 บาท ผู้พิการสามารถติดต่อขึ้นทะเบียนคนพิการ ได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดในทุกจังหวัด) หรือพื้นที่กรุงเทพฯ ติดต่อได้ที่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นในเดือนตุลาคม 2567 ผู้พิการที่มีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาท "ดิจิทัลวอลเล็ต" แต่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียน ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ขอให้รีบติดต่อพม. ในพื้นที่จังหวัดของตนเองโดยด่วน ซึ่งขณะนี้ทางพม. ได้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนคนพิการถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อจะได้รับเงิน 10,000 บาท นี้ด้วย ซึ่งรัฐบาลจะมีรอบโอนกลุ่มเก็บตก อีก 3 ครั้ง ในวันที่ 22 ต.ค., 22 พ.ย. และ 22 ธ.ค.67 เน้นย้ำ ผู้พิการคนไหน ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือบ้านไหนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการ ขอให้เร่งมาขึ้นทะเบียนออกบัตรเพื่อรักษาสิทธิเงิน 10,000 ดิจิทัลวอลเล็ต ที่จ่ายให้เป็น "เงินสด" โอนเข้าบัญชีที่ผูกกับพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน ขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องทำอย่างไร 1.คนพิการเข้ารับการตรวจ เพื่อขอรับเอกสารรับรองความพิการ ณ โรงพยาบาลของรัฐ 2.คนพิการ/ผู้ดูแล นำเอกสารยื่นเจ้าหน้าที่ ทำการตรวจสอบเอกสาร 3.เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกข้อมูล ออกบัตรประจำตัวคนพิการ 4.ยื่นบัตรขึ้นทะเบียน 5.รอรับสิทธิเบี้ยความพิการ เอกสารที่ต้องเตรียม (อย่างละ 1 ฉบับ) 1.เอกสารรับรองความพิการ จากโรงพยาบาลของรัฐ 2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาสูติบัตร (คนพิการ) 3.สำเนาทะเบียนบ้าน (คนพิการ) 4.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน (ผู้ดูแล) 5.รูปถ่ายคนพิการ 1 นิ้ว (กรณีคนพิการไม่สามารถมาด้วยตนเอง) กรณีผู้ที่จะเป็นผู้ดูแลคนพิการ ไม่ใช่ญาติร่วมสายโลหิต หรือทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ร่วมกับคนพิการ ให้ข้าราชการ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน รับรองบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ดูแลคนพิการ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรข้าราชการ อย่างละ 1 ฉบับ