สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้
วันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 20:05 น.
เวลา 08.55 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย นายกสภาสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประชุม ชั้น 8 อาคารสิรินธรานุสรณ์ 60 พรรษา ทรงเป็นประธานการประชุมสภาสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ครั้งที่ 53 โดยมีระเบียบวาระต่าง ๆ อาทิ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568, แผนการใช้จ่ายงบประมาณเหลือจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568, หลักเกณฑ์ ขั้นตอนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568, กรอบแผนบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568, สรุปผลการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี ในรอบปีที่สองของการดำรงตำแหน่ง, การสำเร็จการศึกษาของผู้เข้าศึกษา หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยบาดแผล ออสโตมี และควบคุมการขับถ่ายไม่ได้, รวมถึงหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง, การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนักศึกษา เนื่องจากคณะกรรมการครบวาระ และแผนปฏิบัติการสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เวลา 14.05 น. เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลอากาศเอก ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการปรับวางที่ตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (จำลอง) และพระพุทธธรรมราชูทิศ จากนั้น ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมสามัญคณะกรรมการบริหารมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2566 ซึ่งมีระเบียบวาระต่าง ๆ อาทิ รับรองรายงานการประชุมสามัญประจำปี 2565 รายงานกิจการของคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ในรอบปี 2566 เช่น การจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และรัฐพิธีถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ, โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์, โครงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ งานช่างสิบหมู่ (สาขาช่างศิลป์ไทย), โครงการทุนการศึกษาศิลปวัฒนธรรม, รายงานการเงินและงบดุลของมูลนิธิฯ, รายงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี 2567, รายงานการดำเนินงานของอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม, รายงานการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ ณ เรือนไทยทั้ง 2 หลังในอุทยานฯ, รายงานการปรับปรุงซ่อมแซม และก่อสร้างในอุทยานฯ, การจัดสร้างพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขนาดองค์จำลอง) และการดำเนินการในที่ดินของมูลนิธิฯ เวลา 17.26 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรเวฬา (VELA – Vitality Enhancement and Longevity Academy) รุ่นที่ 1 จำนวน 67 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 82 คน และผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยเข้ารับพระราชทานเข็มพระเกี้ยว และเข็มหลักสูตรเวฬา จำนวน 16 คน ผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานเข็มหลักสูตรเวฬา จำนวน 27 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน สามารถนำผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์การทำงานอาชีพ หรือการฝึกอบรมทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มาเก็บในระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank หลักสูตรเวฬา หรือ Vitality Enhancement and Longevity Academy เป็นหลักสูตรสุขภาพระยะสั้นสำหรับผู้บริหารองค์กรระดับสูงด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้สำหรับผู้บริหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัย ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง การบริหารองค์กร การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้มีความพร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศให้เป็น Medical Hub ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายสัมพันธภาพระหว่างกลุ่มผู้นำองค์กร ทั้งในภาครัฐและเอกชน ในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศหรือชุมชนแห่งการมีสุขภาวะและภาวะสุขสมบูรณ์ระดับชาติ สอดคล้องกับพันธกิจของประเทศ ผลสัมฤทธิ์ของการอบรมหลักสูตรเวฬา ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องสร้างสรรค์และความรู้เชิงลึกเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ จนเข้าสู่อุตสาหกรรมธุรกิจสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดเป็นศูนย์สุขภาพ Healthy Longevity Center ระดับชาติต่อไป