คลัง เดินหน้าชง ครม.เก็บ “ภาษีคาร์บอน” หวังบังคับใช้ปีนี้ ยันไม่กระทบราคาขายปลีก

วันที่ 26 ก.ย. 2567 เวลา 17:41 น.

หนุนเศรษฐกิจสีเขียว “คลัง” เดินหน้าชง ครม.เก็บ “ภาษีคาร์บอน” เร็ว ๆ นี้ หวังบังคับใช้ปีนี้ ยันไม่กระทบราคาขายปลีก-ผู้บริโภค วันนี้ (26 ก.ย.67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือดว่า ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความอยู่รอดทางชีวิต และเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังกำลังผลักดันด้านภาษี และมาตรการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ โดยกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและผู้บริโภค เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต ภาษีคาร์บอนจะครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยตัวอย่างการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้ว จะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ดังนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน แะนั้น ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน มาตรการทางภาษีนี้จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะจะทำให้เสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง เป็นการใช้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม ในส่วนมิติด้านการเงิน กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว และสามารถประสานธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในทิศทางที่เราอยากให้ประเทศนี้ไปได้ หากเราต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะได้รับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน