พบมีกลุ่มถูกตัดสิทธิรับ 10,000 รอบแรก เช็กวิธีแก้ไขด่วน

วันที่ 24 ก.ย. 2567 เวลา 16:19 น.

พบกลุ่มถูกตัดสิทธิรับ 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต รอบแรก เช็กขั้นตอนต้องทำอย่างไร-เอกสารที่ต้องเตรียม โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กลุ่มที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลุ่มแรกคือ กลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน และกลุ่มพิการประมาณ  2.15 ล้านคน ซี่งจะเริ่มโอนวันแรกพรุ่งนี้ 25 กันยายน 2567 ใช้เวลาทั้งหมด 4 วันไม่รวม เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะได้รับเงินครบทั้งหมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิทุกคน สามารถตรวจสอบสิทธิได้ตั้งแต่วันนี้ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ตรวจสอบสิทธิเงินกลุ่มเปราะบาง 10,000 บาท ช่องทางไหน 1. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th/welfare/home 2. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th 3. เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check (เฉพาะคนพิการ) 4. แอปพลิเคชัน "รัฐจ่าย" (โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง) 5. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง กลุ่มถูกตัดสิทธิ 10,000 บาท รอบแรก  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย.67) นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุ พบว่ามีผู้พิการจำนวน 93,979 คน ที่จะยังไม่ได้เงิน 10,000 บาท ในรอบแรก เนื่องจากข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ อาทิ บัตรหมดอายุ, ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ, ไม่มีช่องทางการจ่ายเบี้ย ฯลฯ ขอให้ผู้พิการที่ตกหล่นในรอบแรก รีบดำเนินการอัปเดตข้อมูลให้สมบูรณ์ ตั้งวันนี้ - 3 ธันวาคม 2567 ซึ่งรัฐบาลจะมีการโอนเงินรอบเก็บตกให้อีก 3 ครั้ง ตามไทม์ไลน์ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ต่ออายุบัตรคนพิการ สำหรับการต่ออายุบัตรคนพิการ สามารถไปต่ออายุบัตรได้ที่ศูนย์บริการคนพิการ ประจำจังหวัด ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด โดยสามารถต่อล่วงหน้าได้ 30 วัน ก่อนหมดอายุ เอกสารที่ต้องเตรียม - บัตรประชาชน - ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี) - เอกสารรับรองความพิการ - บัตรประจำตัวคนพิการใบเดิม - หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี) ขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องทำอย่างไร   1.คนพิการเข้ารับการตรวจ เพื่อขอรับเอกสารรับรองความพิการ ณ โรงพยาบาลของรัฐ 2.คนพิการ/ผู้ดูแล นำเอกสารยื่นเจ้าหน้าที่ ทำการตรวจสอบเอกสาร 3.เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกข้อมูล ออกบัตรประจำตัวคนพิการ 4.ยื่นบัตรขึ้นทะเบียน 5.รอรับสิทธิเบี้ยความพิการ เอกสารที่ต้องเตรียม (อย่างละ 1 ฉบับ) 1.เอกสารรับรองความพิการ จากโรงพยาบาลของรัฐ 2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาสูติบัตร (คนพิการ) 3.สำเนาทะเบียนบ้าน (คนพิการ) 4.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน (ผู้ดูแล) 5.รูปถ่ายคนพิการ 1 นิ้ว (กรณีคนพิการไม่สามารถมาด้วยตนเอง) กรณีผู้ที่จะเป็นผู้ดูแลคนพิการ ไม่ใช่ญาติร่วมสายโลหิต หรือทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ร่วมกับคนพิการ ให้ข้าราชการ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน รับรองบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ดูแลคนพิการ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรข้าราชการ อย่างละ 1 ฉบับ ขณะ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา" ระบุว่า "แชร์ให้ไปถึงพี่น้องคนพิการให้มากที่สุด พม. ขยายเวลาขึ้นทะเบียนคนพิการ ถึง 3 ธ.ค. 2567 เพื่อรักษาสิทธิเงินหมื่น จากกรณีที่ ครม. มีมติเห็นชอบที่จะมอบเงิน 10,000 บาทเป็นเงินสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ผมจึงขอฝากข่าวดีถึงพี่น้องคนพิการทั่วประเทศว่า วันนี้รัฐบาลได้ขยายเวลาลงทะเบียนคนพิการไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม นี้ ท่านใดยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือท่านที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการ ขอให้เร่งมาขึ้นทะเบียนออกบัตรประจำเพื่อรักษาสิทธิที่จะได้รับเงิน 10,000 บาทนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการขึ้นทะเบียนออกบัตรประจำตัวคนพิการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศแบบวันสต็อปเซอร์วิส ส่วนบางจังหวัดที่ยังดำเนินการไม่ได้ ขอให้เร่งไปขึ้นทะเบียน เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. จะเร่งประสานงานเพื่อออกบัตรให้โดยเร็วครับ ผมได้เน้นย้ำทางกระทรวง พม. และทุกหน่วยงานว่า ต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความโปร่งใส และไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น หากพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งที่ผิดปกติ ขอให้แจ้งมาได้ที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(ศรส.) ผ่านฮอตไลน์ พม. 1300 กระทรวง พม. จะเร่งดำเนินการและทำให้มั่นใจว่าเงินจากโครงการนี้ได้ส่งถึงมือคนพิการทุกคนอย่างแท้จริงครับ"