พิพัฒน์ จี้แบงก์ชาติยืนยันใครคือผู้แทนบอร์ดค่าจ้าง

วันที่ 23 ก.ย. 2567 เวลา 18:52 น.

พิพัฒน์ จี้แบงก์ชาติยืนยันใครคือผู้แทนบอร์ดค่าจ้าง ขอให้เห็นใจแรงงาน 12 ปี เฉลี่ยขึ้นค่าแรงปีละแค่ 8 บาท ยอมรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ทัน 1 ตุลาคม ค่าแรงขั้นต่ำ วันนี้ (23 ก.ย.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ว่า ล่าสุดนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานได้ทำหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าตามที่ข้าราชการของ ธปท.ได้เกษียณอายุไปแล้วเกือบ 1 ปี เพื่อที่ว่าให้ ธปท.มีข้อสรุปอย่างไรก็ขอให้ตอบกลับมายังปลัดกระทรวงแรงงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเราจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งบอร์ดค่าจ้าง จะต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน ซึ่งฝ่ายราชการ ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน 2 คน และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ ซึ่งต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 จึงจะสามารถลงมติได้ นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุ จึงมีความจำเป็นต้องรอปลัดกระทรวงฯ คนใหม่มาพิจารณา เมื่อการประชุมในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ตนก็ต้องขออภัย ที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ต.ค. 67 ได้ ซึ่งตนยืนยันว่าจะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาล น.ส. แพรทองธาร ชินวัตร จะไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของผู้ใช้แรงงาน หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะทำให้แรงงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำเกินไป ในขณะที่ค่าครองชีพกำลังพุ่งสูง ซึ่งเป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท "ปลัดกระทรวงแรงงาน พยายามทำทุกสิ่งเพื่อดำเนินการจัดประชุมให้ได้ ผมต้องขออภัยที่ยังไม่สามารถทำตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ตุลาคมนี้ได้ เรายังจำเป็นต้องรอคำตอบจาก ธปท. ต้องปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ยืนยันต้องเดินหน้าต่อไป" นายพิพัฒน์ กล่าว