ดรามา! ซื้อทองจากร้าน แต่ขายไม่ได้

วันที่ 23 ก.ย. 2567 เวลา 16:43 น.

ข่าวเย็นประเด็นร้อน - สรุปดรามาสาวซื้อทองร้านดังติ๊กต๊อก แต่ขายไม่ได้ เจ้าของร้านแจง ไม่ต้องมาปั่น ถ้าคิดว่าไม่คุ้ม ไม่ต้องซื้อ ดรามา! ซื้อทองจากร้าน แต่ขายไม่ได้ เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลังจากผู้ใช้ติ๊กต๊อกรายหนึ่ง โพสต์คลิป "เอาทองจากร้านคนดังในออนไลน์ไปขาย แต่ร้านทองจะรับซื้อหรือไม่ มาดูกัน" ในคลิปผู้โพสต์ได้นำสร้องคอทองคำ จี้ทองไอ้ไข่ และดอกไม้ทอง ที่มีใบรับรองที่ซื้อมาจากร้านในติ๊กต๊อก ไปขายที่ร้านทอง แต่ร้านทองบอกว่า "รับซื้อไม่ได้ เพราะไม่มียี่ห้อ และเปอร์เซ็นต์ทอง" ผู้ใช้ติ๊กต๊อก ตอบกลับว่า หวังว่าซื้อมาแล้ว จะขายได้ แต่กลับขายไม่ได้ ร้านทองบอกว่า มีลูกค้าโดนแบบนี้เยอะ ไปซื้อทองออนไลน์หวังเอามาขาย ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้อ เพราะขาดทุนกันเยอะ แม่ตั๊ก ยันทองที่ร้าน ซื้อขายได้จริง ส่วนร้านทองที่ถูกพาดพิง คือ ร้านของ "แม่ตั๊ก กรกนก" ชี้แจงว่า ทองที่ซื้อจากร้าน ขายได้จริง มีใบรับประกัน พร้อมระบุว่า "จะซื้อ 600-700 บาท และจะเอาไปขายได้ 800 บาท มันไม่ได้ เหมือนคุณซื้อรถคันละ 4 ล้านบาท เวลาขาย ยังขายได้แค่ 2 ล้านกว่าบาทเลย" บางช่วงบอกว่า "ซื้อไป 600 บาท ขายคืนได้ 200 บาท ถือว่าถูกต้องแล้ว" ผู้เสียหายรวมตัวแฉปมซื้อทองออนไลน์ ช่วงบ่ายที่ผ่านมา แม่ตั๊ก กรกนก พร้อมสามี และผู้เสียหาย รวมทั้งตัวแทนสมาคมค้าทองคำ และ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการแห่งหนึ่ง โดยหนึ่งในลูกค้า บอกว่าชื่นชอบ "แม่ตั๊ก" มานานแล้ว จึงซื้อกำไลปี่เซี๊ยะในไลฟ์สด 1 วง ราคา 33,332 บาท จนเวลาผ่านไป เดือดร้อนเรื่องเงิน ได้นำไปขายร้านทอง แต่ไม่มีร้านไหนรับซื้อ พอเอาไปจำนำ ได้เงินมาแค่ 9,000 บาทเท่านั้น เพราะน้ำหนักทองหนักแค่ 6.4 กรัม ไม่ถึง 1 บาทตามที่เข้าใจ ส่วนลูกค้าอีกคน บอกว่า การไลฟ์สดแต่ละครั้ง ไม่มีการแจ้งน้ำหนักของทองที่จำหน่าย ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิด คิดว่าทองคำราคากว่า 30,000 บาท มีน้ำหนัก 1 บาท ตามมาตรฐานของร้านทองทั่วไป ฉะนั้นกลุ่มลูกค้า จะมีการรวมตัวแจ้งความดำเนินคดี ด้านตัวแทนสมาคมค้าทองคำ ยกตัวอย่างสินค้าที่ผู้เสียหายซื้อมา อย่างกำไลปี่เซี๊ยะ ราคาขาย 37,000 บาท เป็นทอง 99.99 เปอร์เซนต์ ถ้าคำนวนต้นทุน อยู่ที่ประมาณ 11,600 บาท ไม่รวมค่ากำเหน็จ แต่ขายถึง 30,000 บาท ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ส่วนผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่า กรณีนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะคนซื้อต้องได้รับสินค้าที่แท้จริง และการเสนอขาย ต้องไม่โฆษณาเกินจริง ไม่โอ้อวดสรรพคุณ สั่งตรวจสอบปมขายทองออนไลน์ พลตำรวจต รีวิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ ปคบ. ระบุว่า ประเด็นที่ผู้บริโภคเอาทองไปขายแล้วร้านทองไม่รับซื้อ จะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ กรณีนี้จะต้องดูว่าผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงหรือไม่ ส่วนที่ทางร้านประกาศขายทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนำไปขายและนำไปจำนำไม่มีใครรับนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าร้านค้ามีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเป็นไปได้ว่าส่วนผสมของทองไม่ได้เปอร์เซ็นต์ครบ ต้องดูเจตนารายละเอียดตามข้อเท็จจริงว่า ผู้ซื้อมีการตกลงกับทางผู้ขายอย่างไร เช่น มีการโฆษณาชักชวนแบบไหน อ้างถึงคุณภาพลักษณะ น้ำหนัก เปอร์เซ็นต์ของทองที่ขายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ เจ้าของร้านทอง ยอมซื้อทองคืนเต็มราคา สุดท้ายคุณเบียร์ เป็นสามีของ "แม่ตั๊ก" ยอมประกาศกลางรับซื้อทองคืนในราคาเต็ม ที่ลูกค้าซื้อไปจากร้าน ส่วนใครที่เอาทองไปขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมา ก็มาเอาส่วนต่างคืนได้ แต่ถ้าใครไม่ขายคืน จะไปแจ้งความดำเนินคดี ก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลูกค้าขายทองคืนร้าน แม่ตั๊ก ทั้งนี้เมื่อทางคุณเบียร์ และแม่ตั๊ก ประกาศรับซื้อทองคืน ทีมข่าวเย็นประเด็นร้อน ได้สังเกตการณ์ที่ร้านทองของแม่ตั๊ก ตั้งอยู่บนถนนหทัยราษฎร์ เขตคลองสามวา จากการสอบถามพนักงานบอกว่า ที่ร้านเปิดวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ปิดร้านวันเสาร์-อาทิตย์ โดยยืนยันว่า ร้านเปิดมาประมาณ 3 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีปัญหา แต่ระหว่างทีมข่าวพูดคุยกับพนักงานร้านอยู่นั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่ง นำแหวนทองหนัก 50 สตางค์ ที่ได้จากการซื้อแบบออมทอง จากร้านทองแม่ตั๊กมาขายคืนที่ร้าน แต่ว่าตอนนี้ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบออมทองอีก 4,000 กว่าบาท จึงเพิ่มเงินอีกราว 1,000 กว่าบาท เพื่อซื้อแหวนครึ่งสลึง มีลูกค้าอีกคน ที่เข้ามาสะสมเงินออมทอง จะได้แหวนทองไปแล้วน้ำหนัก 1 บาท และกำลังสะสมเงินออมทองเพิ่ม เพื่อที่จะซื้อแหวนวงไป ซึ่งบอกทีมข่าวว่า พอเห็นข่าวยังไม่ได้นำแหวนไปให้ร้านอื่นดู ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ทีมข่าวสังเกต ที่ตั้งร้านขายทองของแม่ตั๊ก จะมีบริษัท 2 ชื่อบริษัทตั้งอยู่ที่เดียวกัน บริษัทแรกคือร้านขายทอง ซึ่งเมื่อตรวจสอบงบการเงินในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งปี 62 ซึ่งปีแรกคือปี 62 กำไร 700,000 กว่าบาท ปี 63 กำไร 1.9 ล้านบาท ปี 64 กำไร 3.9 ล้านบาท ปี 65 กำไร 4.2 ล้านบาท และปี 66 ล่าสุด กำไร 3 ล้านบาท ส่วนอีกบริษัทเป็นชื่อเดียวกัน แต่เป็นการออมทอง จดทะเบียนจัดตั้งปี 65 ซึ่งปีแรกคือปี 65 ขาดทุน 10,000 กว่าบาท ปี 66 กำไร 60,000 กว่าบาท ขอบคุณภาพจาก : Tiktok@satangrabbit