ปภ. แนะวิธีรับมือดินโคลนถล่มช่วงฤดูฝน
วันที่ 19 ก.ย. 2567 เวลา 14:56 น.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยจากดินถล่ม โดย พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม มีดังนี้ - ที่ลาดเชิงเขา หรือที่ลุ่มใกล้เชิงเขา ซึ่งมีการพังทลายของดินและการผุกร่อนของหิน - บริเวณใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งดินมีความลาดชันและมีก้อนหินขนาดใหญ่ฝังอยู่ในดิน - ภูเขาสูง ที่มีการตัดต้นไม้และไม่มีพืชปกคลุมผิวดิน - บริเวณที่เคยเกิดดินถล่ม มีร่องรอยดินไหล หรือดินสไลด์บนภูเขา - พื้นที่ลาดต่ำ ซึ่งมีชั้นดินหนาและดินชุ่มน้ำมาก - บริเวณที่อยู่ติดภูเขา ซึ่งมีร่องรอยดินไหลหรือเคยเกิดดินถล่ม การเตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม - สำรวจสภาพความเสี่ยงภัย หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้เตรียมพร้อมรับมือ และหมั่นสังเกตความผิดปกติ ทางธรรมชาติ - เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด - สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที - ศึกษาเส้นทางอพยพหนีภัย ซึ่งอยู่ห่างจากแนวการไหลของดินและน้ำ จะได้อพยพหนีภัยอย่างปลอดภัย สัญญาณเตือนก่อนดินถล่ม - เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานานบนภูเขาสูง มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง - ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้น น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ รวมถึงมีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไหลปนมากับกระแสน้ำ - มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน เสียงไหลของโคลน - สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น อาทิ ฝูงนกบินวนไปมาบนท้องฟ้า - ดินมีสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ การปฏิบัติตนปลอดภัยเมื่อเกิดดินถล่ม - อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นจากแนวการไหลของดินและน้ำ - หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิตได้ - ไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ เพราะอาจได้รับอันตรายจากดิน หิน ต้นไม้ที่ไหลมาตามลำน้ำ - กรณีพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนี เพราะอาจกระแทกกับหินหรือซากต้นไม้ - ห้ามเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำ นอกจากนี้ ปภ.ยังแนะวิธีปฏิบัติตนช่วงน้ำท่วมอย่างปลอดภัย ดังนี้ การปฏิบัติตนเมื่อน้ำท่วมบ้าน • ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง • อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย • ตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ไฟและสับคัตเอาท์ ห้ามสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ร่างการเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนที่ชื้นแฉะ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด • ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ไม่เข้าใกล้แนวสายไฟ เสาไฟฟ้า หรือสัมผัสวัสดุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น โลหะ ตะกั่ว อลูมิเนียม ทองแดง • หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในที่น้ำท่วม พายเรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้า เพราะอาจเกิดไฟฟ้าดูด • ไม่อยู่ใกล้ทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เพราะอาจเกิดดินถล่ม • หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ จับปลาในบริเวณที่น้ำท่วมขังหรือทางน้ำไหลผ่าน เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำ เสียชีวิต ระมัดระวังอันตรายจากการจมน้ำ อุบัติภัยจากไฟฟ้า สัตว์มีพิษ • บ้านที่มีเด็กเล็กควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยให้บุตรหลานไปเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด • ระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ที่อาจหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน • หากต้องเดินลุยน้ำให้สวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ และวัสดุมีคมทิ่ม หากน้ำท่วมสูงควรใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ยึดเกาะพยุงตัว เดินทางในช่วงน้ำท่วมด้วยความระมัดระวัง • ใช้ไม้สำรวจเส้นทาง และไม่ควรเดินลุยน้ำช่วงกลางคืน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและอบอุ่นตลอดเวลา จะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและโรคระบาดต่าง ๆ • เพิ่มความระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ไม่ยืนในน้ำและใช้มือจับสายไฟอย่างเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ • หากไม่มีความรู้ในการซ่อมแซมเครื่องไฟฟ้าห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก ปฏิบัติตามคำเตือนของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที