ใช้ได้เกือบ 100% สัญญาณอินเทอร์เน็ต-โทรศัพท์ในพื้นที่น้ำท่วม

วันที่ 18 ก.ย. 2567 เวลา 06:16 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่พะเยา เรียกว่าประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยก็บ่นฮุบพร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบเตือนภัย วนกลับมาเช่นเดิม เรื่องนี้รัฐบาลจะมีมุมชี้แจง ตกลงบ้านเราในอนาคตจะมีโอกาสมีระบบที่ประชาชนจะรู้ถึงภัยล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือและหนีภัยได้ทันหรือไม่ เดี๋ยวไล่เรียงทีละประเด็นพร้อมกัน ใช้ได้เกือบ 100% สัญญาณอินเทอร์เน็ต-โทรศัพท์ในพื้นที่น้ำท่วม เรื่องนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงกรณีน้ำท่วมทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ว่าส่งผลให้มีปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ เพราะเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เสียหาย แต่ตอนนี้น่าจะปกติแล้ว รวมทั้งกระแสไฟฟ้าก็กลับคืนสู่สภาวะปกติ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ใช้การได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้สั่งให้ กรมอุตุนิยมวิทยา และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ประสานไปยัง กสทช. เปิดแอปฯ ใหม่ Help T แจ้งเตือนภัยจากท้องถิ่น ซึ่ง กระทรวงดีอี มีแอปพลิเคชัน "Help T" (ช่วยด้วยน้ำท่วม) แอปฯ ใหม่ ที่พัฒนาขึ้นให้องค์กรท้องถิ่นไว้แจ้งเตือนภัย ถ้ามีน้ำไหลหลาก จะมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลว่า น้ำไปถึงไหนให้ประชาชนได้รับข้อมูลเร็วยิ่งขึ้น นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Cell Broadcast Service) ที่ ดีอี เป็นผู้เชื่อมต่อ 2 ระบบ คือ CBC เป็นการกระจายข่าว ผ่าน SMS ไปยังพื้นที่มีเหตุ และสามารถแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้ โดย ดีอี ก็ทดสอบระบบกับทั้ง 3 ค่ายมือถือ ซึ่งมีความพร้อมแล้ว ส่วนอีกระบบคือ CBE ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่บริหารและรวบรวมข้อมูล เดิมทาง ดีอี มีงบประมาณซ้ำซ้อน กระทรวงละ 400 ล้านบาท แต่ได้ปรับแก้เรียบร้อย และ ดีอี เหลืองบ 90 ล้านบาท อนุทิน ยอมรับ แจ้งเตือนน้ำท่วมผ่านมือถือเป็นเรื่องยาก มาดูฝั่ง กระทรวงมหาดไทย เจ้ากระทรวงฯ ก็กล่าวถึงระบบเตือนภัยและยืนยันว่า มีทุกรูปแบบทั้งแอนะล็อก และดิจิทัล แม้จะถูกตัดงบประมาณเพื่อใช้ในงานป้องกันก็ตาม โดยก็ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่าการแจ้งผ่านมือถือเป็นเรื่องยาก ทีนี้มาดูมุมเยียวยา ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 จำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท โดย ปภ. เป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือ แก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน สาระสำคัญ มีดังนี้  กรณี ที่อยู่อาศัย (ประจำ) อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน ทรัพย์สินเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัย (ประจำ) ถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท ส่วนกรณี ที่พักอาศัย (อยู่ในพื้นที่) ถูกน้ำท่วมเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมอบหมายให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้เสนอของบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว ซึ่งก็เพิ่มจากช่วยค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ที่มีออกมาก่อนหน้านี้