เรียกสอบทุกฝ่าย แรงงานสาวป่วยไม่กล้าลางาน ฝืนทำงานจนตาย

วันที่ 17 ก.ย. 2567 เวลา 18:37 น.

ถึงสุโขทัยบ้านเกิด ร่างพนักงานสาวป่วยหนัก แต่ไม่กล้าลางานต่อ ฝืนทำงานจนเสียชีวิต กรมสวัสดิการฯ จ่อเรียกสอบทุกฝ่าย รวมถึงประวัติการรักษาจาก รพ. ทางด้ารแม่เศร้าสูญเสียลูกสาวที่เป็นเสาหลักของครอบครัว   ความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของแรงงานสาว ป่วยหนักไม่กล้าลาหยุดจนเสียชีวิต ล่าสุดวันนี้ (17 ก.ย.67) ร่างของน้องเมย์ พนักงานสาวโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมฯ สมุทรปราการ เคลื่อนมาถึงวัดวาลุการาม อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย โดยครอบครัวได้ บรรจุร่างว้ในโลงเย็น นำข้าวอาหารน้ำดื่มไปตั้งที่ข้างโลงศพ เตรียมประกอบพิธีสวดพระอภิธรรม ซึ่งแม่ของน้องเมย์ซึ่งยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ ต่อการจากไปของลูกสาวที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในแต่ละเดือนน้องเมย์จะส่งเงินมาให้ 2,000 -3,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของแม่กับลูกอีก 2 คน หากไม่มีน้องเมย์ ภาระการเลี้ยงดูก็จะตกอยู่ที่ตนเพียงคนเดียว เบื้องต้น ครอบครัวจะทำพิธีฌาปนกิจศพน้องเมย์ ในวันที่ 19 ก.ย.67 เวลา 14.00 น. ที่ เมรุวัดวาลุการาม ทางด้านเพื่อนสนิทของน้องเมย์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้น้องเมย์ไม่มีประวัติการลางาน กระทั่งวันที่ 5 ก.ย.67 น้องเมย์ไม่สบาย ได้ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ รักษาตามสิทธิประกันสังคม ทราบว่าป่วยเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ นอนรักษาใน รพ. ตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ย.67 เมื่อออกจาก รพ. อาการไม่ดีขึ้น จึงก็ขอลางานต่ออีก 3 วัน จะขอลางานต่อในวันที่ 13 ก.ย.67 ทางหัวหน้างานก็ขอใบรับรองแพทย์เพราะลาหยุดเกิน 3 วัน น้องเมย์จึงตัดสินใจมาทำงานวันที่ 13 ก.ย.67 แต่ทำงานได้แค่ 20 นาที ก็ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลผ่าตัดพบลำไส้เน่าขาดเลือด และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.ย.67   ทางด้าน น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างรายงานข้อมูล ว่าผู้เสียชีวิตใช้สิทธิลาป่วยตามปกติ โดยลาป่วยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน รักษาอาการปวดท้อง เมื่อออกจากโรงพยาบาลอาการดีขึ้น จึงกลับมาทำงาน โดยยื่นใบรับรองแพทย์ตามปกติ เพราะลาเกิน 3 วัน เมื่อกลับมาทำงานได้เข้าเวรกะกลางคืน แต่จู่ ๆ ผู้เสียชีวิตอาการกำเริบ เพื่อนร่วมงานจึงพาไปห้องพยาบาล และพาไปโรงพยาบาล ก่อนจะมาเสียชีวิต หลังจากนี้ ทางกรมฯ จะเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึงการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการป่วย ประวัติการรักษากับทางโรงพยาบาล สำหรับการลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าที่ป่วยจริง หากลาตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์หรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ซึ่งลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้าง จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง