ซิมบับเวอนุมัติให้ฆ่าช้างให้ประชาชนกิน หลังขาดแคลนอาหาร
วันที่ 17 ก.ย. 2567 เวลา 16:11 น.
รัฐบาลซิมบับเว อนุมัติให้ฆ่าช้าง 200 ตัว เพื่อนำเนื้อไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่ขณะนี้ตกอยู่ในความหิวโหยและขาดแคลนอาหาร หลังประเทศเผชิญภัยแล้งรุนแรง วันนี้ (17 ก.ย. 67) สำนักข่าว CNN รายงานว่า รัฐบาลของประเทศซิมบับเว อนุมัติให้ฆ่าช้างจำนวนมาก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ประสบกับความหิวโหยเนื่องจากขาดแคลนอาหาร เพราะซิมบับเวเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทางโฆษกของกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าซิมบับเว เผยว่า ขณะนี้ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของซิมบับเวเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง ทางรัฐบาลจึงวางแผนที่จะฆ่าช้าง 200 ตัว ซึ่งประเทศซิมบับเวมีช้างอาศัยอยู่มากกว่า 84,000 ตัว แต่ผืนป่าสามารถรองรับช้างได้เพียง 45,000 ตัว และช้างซิมบับเวมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงช้างของประเทศบอตสวานา ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของซิมบับเว กล่าวกับรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ซิมบับเวมีช้างมากเกินความจำเป็นและมีช้างมากเกินกว่าที่ป่าของซิมบับเวจะสามารถรองรับได้ และการที่มีช้างจำนวนมากเกินไปนั้นจะให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรในสำหรับการดำรงชีพ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าในประเทศซิมบับเว เนื่องจากช้างจะพากันออกจากป่าเข้ามาหากินในชุมชน การเคลื่อนไหวของซิมบับเวนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ เมื่อเดือนก่อน ทางประเทศนามิเบียตัดสินใจอนุมัติให้ฆ่าสัตว์ป่า 700 ตัว ซึ่งรวมทั้งช้าง และนำเนื้อสัตว์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารที่เกิดจากภัยแล้ง ซึ่งการอนุมัติให้ฆ่าสัตว์ป่าดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์และกลุ่มนักอนุรักษ์จำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของซิมบับเว ยังกล่าวว่า การตัดสินใจฆ่าช้างครั้งนี้ของซิมบับเว ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์ หลังจากเกิดเหตุช้างโจมตีมนุษย์หลายครั้ง ซึ่งสร้างเดือดร้อนให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก และสังหารผู้คนไปจำนวนมาก ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้หญิงคนหนึ่งในภาคเหนือของซิมบับเวถูกช้างฆ่าตาย ดังนั้นการฆ่าจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการควบคุม ทั้งนี้ในปีนี้ มีผู้เสียชีวิตในซิมบับเวอย่างน้อย 31 คน จากการเผชิญหน้ากันระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ ทั้งนี้ ประเทศซิมบับเว และประเทศนามิเบีย เป็นเพียง 2 ประเทศจากหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้ที่ประสบภัยแล้งรุนแรงที่เกิดจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งทำให้ฝนตกน้อยมากในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี และทั้งสองประเทศยังเสี่ยงต่อการเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย