น้ำท่วมเริ่มลดลง แต่เฝ้าระวัง 3 อำเภอ
วันที่ 17 ก.ย. 2567 เวลา 11:21 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ลงไปที่พื้นที่ภาคใต้ หลังจากวานนี้ฝนตกหนัก หลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล ทำให้น้ำป่าไหลหลาก และน้ำฝนรอระบาย เอ่อท่วมถนนหลายสาย เช้าวันนี้ ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม น้ำท่วมเริ่มลดลง แต่เฝ้าระวัง 3 อำเภอ สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสตูล หลังจากวานนี้ น้ำป่าเอ่อจากคลองดุสน ท่วมถนนสายสตูล-ละงู และในหมู่บ้าน ที่ตำบลฉลุง อำเภอเมืองสตูล ล่าสุด เช้าวันนี้ แม้ฝนตกยังตกต่อเนื่อง แต่ระดับน้ำเริ่มลดลง รถใช้เส้นทางสัญจรได้ แต่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในหมู่บ้าน ยังมีน้ำท่วม ซึ่ง จังหวัดสตูล เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่อำเภอละงู, ควนโดน และเมืองสตูล และประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน กรณีฉุกเฉิน ในอำเภอท่าแพ ,ควนโดน และเมืองสตูล ที่จังหวัดภูเก็ต เช้าวันนี้ ถนนหน้าวัดลัทฐิวนาราม หรือ วัดใต้ ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก และหน้าวัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง เข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากช่วงค่ำเมื่อวานนี้ น้ำท่วมสูง จนรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางได้ เนื่องจากฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง ได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร ส่วนในเมือง เทศบาลนครภูเก็ต เร่งระบายน้ำด้วยเครื่องผลักดันน้ำ ในคลองบางใหญ่ 2 จุด 7 ตัว เดินเครื่องเต็มที่ เพื่อผลักดันน้ำจากคลองบางใหญ่ ลงทะเล ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังเฝ้าระวังน้ำท่วทฉับพลันตลอด 24 ชั่วโมง สั่งปิดเส้นทาง ดิน-หิน ภูเขาไหลปิดถนน ขณะที่ นายสมปราชญ์ ปราบสงคราม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเหตุดินและหินจากภูเขา ไหลปิดถนนทางลัดจากถนนเพชรเกษม เข้าเมืองกระบี่ ก่อนสั่งปิดเส้นทางชั่วคราว เนื่องจากฝนยังคงตกต่อเนื่อง จึงเกรงว่า ผู้ใช้เส้นทางจะได้รับอันตราย หากดินไหลเพิ่มเติม และสั่งการให้ท้องถิ่นเร่ง นำรถไถเคลียร์ดินและหินออกเส้นทาง นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาพนมเบญจา เอ่อท่วมพื้นที่เกษตรของชาวบ้านหลายจุดด้วย สทนช.เตือนรับมือน้ำโขงเพิ่มสูง กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาพายุลูกแรกมีโอกาสเข้าไทย ก่อตัวแล้วแถว ๆ ประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่า 21 กันยายนนี้ ถึงอีสานเป็นด่านแรก มาดูทิศทางของพายุดีเปรสชัน ที่ก่อตัวบริเวณตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ผ่านทะเลจีนใต้ และมีทิศทางเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามในวันที่ 19 กันยายนนี้ จากนั้นจะค่อย ๆ อ่อนกำลังลง จากพายุโซนร้อน เป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งเมื่อมาถึงไทย ยังบอกไม่ได้ว่าความรุนแรง จะลดลงมาระดับใด โดยข้อมูลจาก TEAM GROUP ระบุว่า วันที่ 20 กันยายน จะเริ่มส่งผลกระทบต่อไทย ทำให้มีฝนตกหนักมากที่ จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงฝนตกหนักมากในตอนกลางของประเทศลาว 21 กันยายน จะมีฝนตกหนักมากที่ จังหวัดน่านตอนบน แพร่ตอนบน ลำปางตอนบน พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ตอนบน 22 กันยายน ฝนจะออกนอกไทยไปแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะจะมีฝนตกหนักที่ตอนกลางของพม่า และไปสลายตัวที่ชายแดนพม่ากับบังคลาเทศ ขณะที่ สภาพอากาศบ้านเรา วันนี้ (17 ก.ย.) จะมีฝนตกหนักบางแห่ง และตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน พื้นที่สีแดง ที่จังหวัดจันทบุรี ตราด พังงา ตรัง และสตูล เตือนเป็นพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักมาก ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ยังชะล่าใจไม่ได้ เป็นสีเหลืองเกือบทั่วไทย จากปัจจัยร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมประจำฤดู มีกำลังค่อนข้างแรง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังอันตรายในช่วงนี้ คลื่นลมทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่ฝนตก คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนล่าง คลื่นสูง 2 เมตร บริเวณที่ฝนตก สูงมากกว่า 2 เมตร เรือเล็กฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำโขงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง หลังไหลท่วมหลายพื้นที่ริมโขง ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) เตือนระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5-1 เมตร ช่วง 18-21 กันยายน ขณะนี้มวลน้ำไหลผ่าน จังหวัดหนองคาย สูงสุด 21,187 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูงกว่าตลิ่ง 1.62 เมตร และเคลื่อนตัวไปทาง จังหวัดบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม จึงต้องเฝ้าระวัง เพราะรองรับมวลน้ำที่ไหลมาจากเหนือ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-2.60 เมตร