สทนช. เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น
วันที่ 10 ก.ย. 2567 เวลา 08:49 น.
อ่างทองเร่งพร่องน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองสาขา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำรับมือฝน ขณะที่ สทนช. ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น วันนี้ (10 ก.ย.67) แม้พายุยางิจะลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำไปแล้ว แต่มีคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะยังมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยการพร่องน้ำเข้าคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำเช่นที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง ทางเจ้าหน้าที่ยังคงเปิดการระบายน้ำเข้าคลองบางแก้วทั้ง 3 บานเพื่อพร่องน้ำเข้าไปในคลองสาขา โดยคลองบางแก้วเป็นคลองสายสำคัญที่เชื่อต่อระกว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลพบุรี พร้อมทั้งนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับฝนและระดับน้ำเจ้าพระยาที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคกลาง(ชัยนาท) สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานแจ้งว่าเขื่อนเจ้าพระยายังคงการระบายน้ำอยู่ที่ 1,498 ลบ.เมตร/วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.38เมตร ท้ายเขื่อน 12.82 เมตร ทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 6.17 เมตร/รทก.จากระดับคันกั้นน้ำ 10 เมตร/รทก. ซึ่งพื้นที่จังหวัดอ่างทองมีบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำท่วมแล้วในหมู่ที่ 1,2,3 ,9,10,11,12 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง จำนวน 220 หลังคาเรือน ด้านข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำวันนี้ ( 10 ก.ย. เวลา 7.00 น.) 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (143 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บึงกาฬ (89 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (15 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (48 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (71 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (52 มม.) สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 64% ของความจุเก็บกัก (51,500 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 47% (27,318 ล้าน ลบ.ม.) ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 7-12 กันยายน 2567 เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ.สปป.ลาว ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 7 - 12 กันยายน 2567 ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.5 - 1.5 ม. จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำโขงและริมลำน้ำบางสาขา จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (9 ก.ย. 67) นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของแม่น้ำมูล พร้อมติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราวแม่น้ำมูล โดยปัจจุบัน สถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำท่า M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย).จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 823.60 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในสภาวะปกติ หลักจากรับทราบสถานการณ์น้ำแล้วได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว ทั้ง 2 จุด ได้แก่ บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของพนังกั้นน้ำเดิม หรือ จุดฟันหลอ และบริเวณชุมชนวังแดง เทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง การดำเนินการก่อสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว 2 จุดนี้ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน ปัจจุบันการดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน สามารถใช้งานและป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่อาจสูงขึ้นได้ สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 9 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)