โอดยาดองเถื่อน กระทบหนักโรงกลั่นสุราชุมชน

วันที่ 6 ก.ย. 2567 เวลา 11:53 น.

โอดยาดองเถื่อน กินถึงตาย กระทบหนักโรงกลั่นสุราชุมชน คนซื้อไม่แน่ใจชะลอสั่ง ยืนยันกระบวนการผลิตมีมาตรฐาน ด้านนักวิชาการ ชี้แอลกอฮอล์กินได้-กินไม่ได้ แยกยาก จรรยาบรรณคนผลิตสำคัญมาก จุดสังเกตคือราคาต่ำกว่าท้องตลาด         คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนซุ้มยาดองมรณะส่งผลกระทบสุราชุมชน วันนี้ (6 ก.ย.67) น.ส.สุภาพรรณ อุปฮาด อายุ 27 ปี  ผู้ผลิตสุราชุมชนกลั่นจากข้าวอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนโนนหนองลาด กลุ่มเมล็ดพันธุ์และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนมองว่าโรงงานสุราชุมชนจะเหมือนกับที่เป็นข่าว   ยอมรับว่ายอดขายลดลง อาจจะด้วยกระแสความนิยมลดลงด้วย หรืออาจจะมีผลจากข่าวกินยาดองแล้วเสียชีวิต เพราะบางคนก็ไม่แน่ใจอาจจะชะลอการสั่งซื้อไว้ก่อน ขอยืนยันว่าโรงกลั่นสุราชุมชนมีมาตรฐาน มีการตรวจวัดคุณภาพตลอดสามารถดื่มกินได้และเอาไปหมักต่อกับสมุนไพรที่เป็นตัวยาได้   ขณะที่ ผศ.ดร.ฐิติกานต์ สมบูรณ์ อ.ประจำสาขาวิชาเคมีเชิงฟิสิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า แอลกอฮอล์บริสุทธ์มี 2 ประเภท คือ เอทานอล ซึ่งเป็นประเภทที่รับประทานได้ และเมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นประเภทรับประทานไม่ได้ กระบวนการสังเคราะห์ เป็นสารอันตราย ซึ่งจะมีหลายเกรด เช่น เกรดที่ใช้ในทางเคมีวิเคราะห์ แอลกอฮอล์ฟู๊ดเกรด จะมีความแตกต่างด้านราคา เช่น เอทานอลราคา 160 บาทต่อลิตร ส่วนเมทานอลราคา 60 บาท ต่อลิตร อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการนำไปผสมทำเป็นยาดอง เมื่อสังเกตทางกายภาพ พบว่า สารทั้ง 2 ชนิดนี้แยกกันยาก แต่หากดื่มเข้าไปแล้วให้สังเกตได้จากมีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น เมา แสบตา แสบร้อนที่ทรวงอก  หรือเมื่อสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศรีษะ นอกจากนี้  กลิ่นของเอทิลแอลกอฮอร์จะมีกลิ่นเบา ไม่ฉุน หากเป็นเมทานอล จะมีกลิ่นฉุนแรง ตามภูมิปัญญาของขาวบ้านจะทำเหล้าขาวจากพืช เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น โดยนำไปหมักแล้วกลั่นออกมา หากดูตามกระบวนการหมักสุราพื้นบ้านแล้ว ที่ชาวบ้านผลิตในชุมชน เมื่อนำไปหมัก กลั่น ต้มตามกระบวนการแล้ว จะได้แอลกอฮอล์ที่เราเรียกว่า เอทานอลที่ดื่มได้ เพราะกระบวนการหมักจะเกิดเมทานอลได้ยาก ระดับชุมชนที่หมักและทำอยู่แล้ว จะมีวิธีการควบคุมคณภาพ ผศ.ดร.ฐิติกานต์ กล่าวต่ออีกว่า ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ถือว่ายังมีน้อย เพราะคนผลิต ซื้อขายมานานยังไม่รู้ว่า แอลกอฮอล์ชนิดนี้อันตราย ที่สำคัญที่สุดคือผู้ผลิตต้องมีจรรยาบรรณ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตใช้เมทิลแอลกอฮอร์เป็นส่วนผสม เพราะต้องการลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาที่ต่างกัน แต่ไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจให้ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตเรื่องราคา ที่อาจจะถูกกว่าท้องตลาด ให้สันนิษฐานว่าเป็นเหล้าผสม