ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ โลกร้อนทำให้พายุแรงเป็นพิเศษ

วันที่ 5 ก.ย. 2567 เวลา 12:48 น.

ดร.ธรณ์ แนะจับตาซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ โลกร้อนทำให้พายุลูกนี้เพิ่มกำลังเร็วมากและแรงเป็นพิเศษ หากขึ้นฝั่งแล้วกลับลงทะเลต้องลุ้นว่าจะแรงขนาดไหน ไทยคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ วันนี้ (5 ก.ย.67) พายุไต้ฝุ่นยางิ ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น โดยมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางมากกว่า 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดการณ์ว่าจะลดกำลังลงเป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังแรงก่อนจะขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของจีนในวันที่ 6 ก.ย.67 ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ซูเปอร์ใต้ฝุ่นยางิ กำลังมุ่งหน้าไปทางไห่หนานแบบช้า ๆ โลกร้อนทำให้พายุลูกนี้เพิ่มกำลังเร็วมากและแรงเป็นพิเศษ ทั้งนี้พายุไต้ฝุ่น กับไห่หนาน ฮ่องกง และพื้นที่แถวนี้ถือเป็นเรื่องปรกติ แต่ในอดีตเป็นไต้ฝุ่นขนาดเล็ก ความรุนแรงต่ำ ดร.ธรณ์ ให้ความเห็นด้วยว่า โลกร้อนไม่ได้ทำให้พายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พายุแต่ละลูกจะแรงขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลร้อนมากกว่าในอดีต น้ำร้อน อากาศร้อน ยังทำให้ฝนตกหนักกว่าเดิม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือดินถล่ม โลกร้อนยังทำให้พายุเพิ่มกำลังเร็วมาก จนรับมือแทบไม่ทัน พายุยางิ เปลี่ยนจากพายุโซนร้อน กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ในระยะเวลาอันสั้น ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า ตนเคยเขียนถึงเฮอริเคน Otis ที่เข้าเม็กซิโกในปีที่แล้ว พายุเร่งความแรงจากพายุโซนร้อน กลายเป็น Cat5 ภายในเวลา 24 ชั่วโมง พายุมาเร็วมาก ทำให้รับมือไม่ทัน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบร้อย เศรษฐกิจพังพินาศ เสียหายหลายแสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านเหรียญ) ในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา มีพายุไต้ฝุ่นเข้าไห่หนาน 106 ลูก แต่มีแค่ 9 ลูกเท่านั้นที่เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น พายุยางิจึงเป็นพายุที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายกับจีนใต้ จนต้องยกระดับการรับมือถึงขั้นสูงสุด ปิดทุกอย่างตั้งแต่ช่วงค่ำวันนี้ (5 ก.ย.67) เมื่อข้ามเกาะไห่หนาน พายุน่าจะลงทะเลอีกครั้ง แล้วตรงมาที่เวียดนามเหนือ “เมื่อลงทะเล พายุจะแรงเพิ่มขึ้น ต้องลุ้นว่าจะแรงขนาดไหน บ้านเราคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ต้องติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพราะโลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การพยากรณ์ล่วงหน้านาน ๆ ทำได้ยาก จึงต้องระวังตัวไว้ ติดตามข้อมูลแบบต่อเนื่อง เตรียมรับมือ เช็กความเสี่ยง คิดถึงเหตุร้ายที่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดกับเรา ป้องกันและจำลองสถานการณ์เพื่อหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า อย่าประมาทพายุโลกร้อนเด็ดขาด”