ขยะพลาสติกสู่แฟชั่นยั่งยืน ในไต้หวัน

วันที่ 4 ก.ย. 2567 เวลา 18:15 น.

บริษัทคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหลือใช้ ให้กลายเป็นแว่นตาและของตกแต่งบ้านที่ดูทันสมัย ตามกระแสแฟชั่นอันยั่งยืน ฝาขวดพลาสติก และเศษพลาสติกจากภาชนะบรรจุอาหาร อาจเป็นเพียงขยะสำหรับคนทั่วไป แต่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงไทเป ของไต้หวัน สามารถชุบชีวิตมันให้กลายเป็นสินค้าที่ดูดีมีราคา อาทิ กรอบแว่นตา, ไม้แขวนเสื้อ และกระเบื้องยางตกแต่งบ้าน โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้า และคนทั่วไป เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อสัมผัสกับขั้นตอนการรีไซเคิลขยะพลาสติก ให้เป็นสินค้านำสมัยด้วยตนเอง จนได้รับการยกย่องจากบรรณาธิการนิตยสาร ฮาร์เปอร์ บาซาร์ ไต้หวัน ว่า เป็นแนวทางการส่งเสริมแฟชั่นอันยั่งยืน (sustainable fashion) ที่ดี วัตถุดิบในการผลิตคือขยะพลาสติกจากบ้านเรือนผู้คน ซึ่งจะถูกนำมาตัดเป็นชิ้น ๆ และนำมาหลอมทำรูปทรงใหม่ ผ่านเครื่องจักรที่บริษัทดังกล่าวผลิตขึ้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยทุกขั้นตอนจะคำนึงถึงการลดมลพิษ และภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด ยกตัวอย่างการผลิตกรอบแว่นตา 1 อัน จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 400 กรัม ซึ่งนอกจากประสบความสำเร็จด้านการเปลี่ยนขยะพลาสติก ให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืนแล้ว การที่ลูกค้าและคนทั่วไปได้มีโอกาสทดลองขั้นตอนการทำสินค้าต่าง ๆ ด้วยตนเอง ยังช่วยปลูกฝังให้ทุกคนตระหนัก ถึงความสำคัญของการลดปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย ทั้งนี้ตัวเลขจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันพบว่า เมื่อปี 2566 มีจำนวนขยะในไต้หวันทั้งหมด 11.58 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะที่สามารถรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้จำนวน 6.27 ล้านตัน