แม่น้ำยม ลดระดับน้ำท่วมคลี่คลาย

วันที่ 2 ก.ย. 2567 เวลา 06:10 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงเท่าตลิ่งแล้ว มีเพียงบางจุดที่ระดับต่ำและเป็นแอ่งกระทะ ยังถูกน้ำท่วมระดับสูง 20 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร อย่างเช่นพื้นที่อำเภอศรีสำโรง น้ำยังท่วมสูง และถูกน้ำยมซัดถนนขาด วานนี้ทางแขวงการทางเข้าซ่อมถนน เพื่อเปิดเส้นทางให้สัญจรชั่วคราว แม่น้ำยม ลดระดับน้ำท่วมคลี่คลาย ภาพขณะที่แขวงทางหลวงสุโขทัย เร่งซ่อมถนนสาย 195 ศรีสำโรง-สุโขทัย บริเวณตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง ซึ่งถูกกระแสน้ำพัดขาดทางยาวกว่า 30 เมตร แต่ตอนนี้ยังมีอุปสรรค เพราะกระแสน้ำยังแรง  เบื้องต้นเอาก้อนหินอัดที่คันทาง และใช้รถแบ็กโฮกดอัดให้แน่น จากนั้นจะเอาสะพานเหล็กมาพาด เพื่อให้การจราจรสามารถสัญจรได้ชั่วคราว ปักธงแดง ประชาชนริม แม่น้ำน่าน ยกของขึ้นที่สูง  ที่จังหวัดพิจิตร ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวิทูร เกิดอินทร์ หัวหน้าฝ่ายเจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทาน จังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ติดตั้งธงแดง ณ สะพานข้ามแม่น้ำน่าน อำเภอเมืองพิจิตร เป็นสัญลักษณ์แจ้งระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่งให้อพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง เตรียมพร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร ล่าสุดระดับน้ำ วัดได้ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 70 เซนติเมตร เขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำ ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มเข้าพระยา เมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลมาสมทบ รวมทั้งรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ปราการด่านสุดท้ายที่เป็นกุญแจสำคัญก่อนน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยเขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รองรับฤดูน้ำหลาก ฝนตกหนักถึงเดือนพฤศจิกายน จึงเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด แม่น้ำน้อย เอ่อท่วมพื้นที่ปลูกกล้วย  ผลจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำใน "แม่น้ำน้อย" แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่ไหลผ่านอำเภอบางบาล เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งสวนกล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง ในพื้นที่ตำบลบางหลวง ตอนนี้ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้นกล้วยเริ่มจมน้ำ ชาวบ้านต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย ซึ่งปีนี้น้ำมาเร็วจนชาวบ้านตั้งตัวแทบไม่ทัน น้ำท่วมขยายวงกว้าง  เช่นเดียวกับที่จังหวัดอ่างทอง น้ำท่วมพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ ขยายวงกว้าง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ทำให้บริเวณริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงถึง 50 เซนติเมตร ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ต้องใช้เรือในการสัญจร และชาวบ้านต่างพากันหวาดกลัวสัตว์มีพิษ ที่จะมากับน้ำท่วม ขณะที่ทางจังหวัดประกาสเตือนพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำให้ระวังน้ำท่วมฉับพลันในช่วงนี้ด้วย มั่นใจทำนบดินป้องกันตลิ่งได้  กรณีที่มีการนำเสนอข่าว "ชาวนนทบุรี ลุ้นหนัก เขื่อนริมเจ้าพระยาพัง 4 เดือน ยังซ่อมแซมไม่เสร็จ หน่วยงานที่กำกับดูแล สร้างแค่เขื่อนดินชั่วคราว" นั้น กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีพนังคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัว บริเวณปากคลองบางกรวย ปัจจุบันกรมชลประทานได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน ด้วยการก่อสร้างทำนบดินโครงสร้างเสาไม้ยูคาลิปตัส เชื่อมระหว่างประตูระบายน้ำคลองบางกรวย และถนนหมู่บ้าน เป็นระยะทาง 160 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้ป้องกันน้ำหลากในปี 2567 ได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทำนบดินดังกล่าว มีความมั่นคงแข็งแรง ป้องกันน้ำได้ ถึงเวลาต้องกำหนดค่ากลาง น้ำท่วม ด้าน นักวิชาการ นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำถึงเวลาที่ประเทศไทย ควรมีการกำหนดค่ากลางความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ผ่านสมการขนาดเศรษฐกิจ สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ระยะเวลาน้ำท่วมเพื่อเป็นตัวชี้วัดและอธิบายการตัดสินใจเรื่องความเสียหายจริง ได้ว่าจะต้องฟื้นฟูความเสียหายเท่าไหร่ และอย่างไร และสำหรับผู้ที่ต้องการ "ร่วมแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" สามารถบริจาคได้ ที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 020-3-04545-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ กระแสรายวัน หรือ สแกน QR Code E-Donation บริจาคผ่านระบบ Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 2054 6546 Line Official : @friendsofpa ชาวนาเศร้าฝนทิ้งช่วง นาข้าวขาดน้ำ ขณะหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ จังหวัดอุบลราชธานี ภาคอีสาน กำลังประสบปัญหาภัยแล้วอย่างหนัก ต้นข้าวที่ปลูกไว้เริ่มเหลืองตาย หลังฝนทิ้งช่วงนานนับเดือน นายปรีดี สาละกาล อายุ 72 ปี ชาวนา บ้านสร้างถ่อ ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน บอกว่า สถานการณ์น้ำปีนี้แล้งมาก จึงอยากให้หน่วยงานช่วยทำฝนเทียม เพื่อจะได้มีน้ำฝนหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ยังไม่ตาย ไม่เช่นนั้นปีนี้ คงต้องซื้อข้าวกิน ขอบคุณภาพจาก : Facebook สุโขทัยรายวัน