เร่งช่วยคนงานติดอุโมงค์ถล่ม

วันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 16:32 น.

ข่าวเย็นประเด็นร้อน - พบศพคนงานชาวเมียนมาเสียชีวิตแล้ว ในอุโมงค์รถไฟถล่ม หลังทีมกู้ภัยพยายามช่วยเหลือมานานถึง 5 วัน ส่วนอีก 2 คนที่เหลือ ยังมีสัญญาณชีพ ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 3 คน จากเหตุดินถล่มภายในอุโมงค์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่กลางดึกวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุที่แน่ชัดนั้น ทีมข่าวได้รับข้อมูลจาก ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยาชื่อดังว่า พบข้อมูลบันทึกคลื่นแผ่นดินไหวจากสถานีลำตะคอง ที่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 3 กิโลเมตรว่า เกิดแรงสั้นสะเทือน 3 ครั้ง จนคาดว่าเกิดการถล่มของดินครั้งแรก เมื่อเวลา 21.58 น. ของวันที่ 24 สิงหาคม ครั้งที่ 2 เวลา 00.10 น. วันที่ 25 สิงหาคม และครั้งที่ 3 เวลา 01.58 น. วันที่ 25 สิงหาคม โดยช่วงบ่ายวานนี้ (28 ส.ค.) เราเกือบได้รับข่าวดี เมื่อชุดค้นหาได้ยินเสียงเคาะตอบกลับมา ในจุดที่รถดัมป์บรรทุกดินติดอยู่ในอุโมงค์ ซึ่งตรงกับจุดที่พบสัญญาณชีพคนแรก แต่การขุดต้องเจออุปสรรค เมื่อเจอก้อนหินขนาดใหญ่ปิดกั้นเส้นทาง เปิดภาพระยะประชิดคนงานอยู่ข้างรถ กระทั่งช่วงเช้าตรู่วันนี้ (29 ส.ค.) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ รายงานความคืบหน้าว่า พนักงานชาวจีนจากบริษัทที่มาสนับสนุนการช่วยเหลือ ใช้เครื่องเจาะกระแทก ดำเนินการเจาะหินในแนวเฉียงประมาณ 45 องศา เจาะได้ระยะความลึก 1 เมตร จากพิกัดตำแหน่งที่เครื่องสแกน ได้สแกนใต้ก้อนหินในระดับความลึก 1.8 เมตร และตรวจพบสัญญาณชีพ ยังคงเหลืออีกประมาณ 0.8 เมตร จึงจะถึงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งต้องใช้กำลังคนขนย้ายเศษหินจากที่แคบ และใช้รถขุดตักไฮโดรลิก ปรับเกลี่ยหินไว้ด้านข้างอุโมงค์ ก่อนจะวางกระสอบทรายทับเพื่อไม่ให้ดินและหินด้านข้างถล่มลงมาอีก พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจจับการทรุดตัวเพิ่ม บริเวณเพดานและผนังอุโมงค์ จากนั้นนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ยืนยันว่า เมื่อตอน 04.00 น. ที่ผ่านมา สามารถเปิดดินที่ปิดอยู่ 1 เมตรออกได้แล้ว ทำให้ดินแตกเป็นรู มองเห็นตัวรถสีเหลือง แต่ยังไม่เจอตัว แต่จากการใช้เครื่องเรดาห์สำหรับค้นหาผู้ประสบภัย พบว่ามีผู้ติดอยู่ใต้ตัวรถ หรือด้านข้างรถ ลึกลงไป 3 ฟุต ไร้ปาฏิหาริย์ ! แรงงานคนแรกเสียชีวิต จนเวลา 11.00 น. ได้รับแจ้งยืนยันจากทีมกู้ภัยของการรถไฟฯ และทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากประเทศจีนว่า คนงานคนแรกที่ติดอยู่ในอุโมงค์ เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุชื่อ หรือสัญชาติได้ เพราะต้องรอการตรวจพิสูจน์ก่อน  ยังมีหวังช่วยอีก 2 ชีวิตที่เหลือ อย่างไรก็ตาม ทีมกู้ภัยยังคงทำงานกันอย่างหนัก เพื่อเร่งค้นหาคนงานที่เหลืออีก 2 คน โดยยังคงมีความหวังว่า จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ทัน และตั้งเป้าหมายว่า ภายในวันนี้จะมีความคืบหน้าในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเสียใจและพร้อมเยียวยาให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ นำร่างผู้ตายออกจากอุโมงค์รถไฟถล่ม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงร่างคนงานที่เสียชีวิต ออกจากอุโมงค์ โดยรถตู้ของทีมกู้ภัยนำร่างออกมา ก่อนขับออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุ นำส่งโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา เพื่อตรวจพิสูจน์ โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินให้ข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตสั้น ๆ ว่า เพราะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 5 วัน ร่างกายอาจจะขาดน้ำ ขาดออกซิเจน และเกลือแร่  เร่งช่วยเหลือ 2 คนงานติดในอุโมงค์ ล่าสุดนายชัยวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าวว่า การให้ความช่วยเหลือแรงงานอีก 2 คน หลังจากนี้ทางมีวิศวกรโครงสร้าง ขอทำสิ่งที่เรียกว่า "เพิ่มความมั่นคง" เพื่อให้ทีมค้นหาได้เข้าไป และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทีมกู้ภัย เนื่องจากดินยังไม่มีความมั่นคงตลอดเวลา ประกอบกับตรงจุดเกิดเหตุ รถบรรทุกที่อยู่ในจุดพบผู้เสียชีวิต มีลักษณะเอียงอยู่ อาจทำให้เกิดช่องว่าง พอให้เจ้าหน้าที่มุดหรือแทรกตัวเข้าไปค้นหายังจุด 2 และจุด 3 ต่อไป อนุทินคาด แรงงานคนแรกเสียชีวิตมาแล้ว 3-5 วัน ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัญมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่หลังพบศพผู้เสียชีวิต โดยนายอนุทิน มาถึงพื้นที่ด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด ก่อนเข้าร่วมรับฟังสรุปสถานการณ์ทันที ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก่อนเดินทางไปให้กำลังใจทีมกู้ภัยด้านใน นายอนุทิน บอกว่า เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จากนี้ต้องดำเนินการกับร่างผู้เคราะห์ร้ายตามขั้นตอน นำร่างของผู้เสียชีวิตส่งไปชันสูตรโดยแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อย่างไรก็ตามยังเหลืออีก 2 รายที่ยังรอคอยการช่วยเหลือ ทางทีมได้ทำเต็มที่สุดความสามารถ โดยทางทีมกู้ภัยของไทยได้ทำงานร่วมกับทีมกู้ภัยของประเทศจีน ยังไม่ถอดใจ ต้องมีความหวัง นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ผลการชันสูตรศพแรงงานเมียนมารายแรกที่นำออกมาได้นั้น คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว 3-5 วัน จากการขาดอากาศหายใจ สำหรับสัญญาณชีพที่มีการตรวจก่อนหน้านี้ อาจเป็นการเคลื่อนไหวของวัตถุหรือก้อนหินภายในอุโมงค์ จากนี้จะไม่ให้ใช้คำว่าสัญญาณชีพแล้ว ให้ใช้เป็นความเคลื่อนไหวของวัตถุบางอย่าง