ตรวจพื้นที่พระใหญ่เขานาคเกิด ยังรื้อไม่ได้

วันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 06:25 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - ตามความคืบหน้าเหตุดินไหลทับบ้านเรือนประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน ที่จังหวัดภูเก็ต ล่าสุดวานนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่หลังองค์พระใหญ่ เขานาคเกิด พบมีการปรับพื้นที่ ทำคูระบายน้ำ ปรับเปลี่ยนทิศทางน้ำ ก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่ม พันเอก ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบยอดเขานาคเกิด หลังพระใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่ยังไม่มีการอนุญาต แต่มีการสร้างอาคารอเนกประสงค์ พร้อมปรับพื้นที่ ก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชนและมีผู้เสียชีวิต จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มก่อสร้างปี 2548 มีการปรับพื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งของพระใหญ่ รวมถึงปรับพื้นที่เป็นลานกว้าง แต่ไม่พบหลักการปันน้ำ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้างบนที่สูง และตามธรรมชาติแล้วบริเวณสันเขาหรือภูเขาสูง จะมีการปันน้ำตามธรรมชาติ โดยเขานาคเกิดที่ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติ จำนวน 2 ร่อง แต่เมื่อมีการก่อสร้างและปรับพื้นที่ ได้มีการปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ เมื่อเกิดฝนตกหนัก และมีน้ำต้องระบายลงจากภูเขา ทำให้มวลน้ำต้องการช่องทางเดิน ซึ่งจุดที่เกิดดินไหลและพังลงมา เป็นทางเดินน้ำที่ธรรมชาติต้องการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน จากนี้จะประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนอาคารอเนกประสงค์ที่มีการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เตรียมปิดป้ายประกาศห้ามใช้อาคาร หลังเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม และยังไม่สามารถรื้อถอนได้ เนื่องจากต้องดำเนินการตามกฎหมาย   นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกกรม ยอมรับว่า เครื่องตรวจวัดดินมวลบนเขานาคเกิด จังหวัดภูเก็ต ที่ติดตั้งอยู่ใต้ต้นไม้บริเวณลานจอดรถของวัดพระใหญ่ ใกล้จุดดินถล่ม ไม่สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากขาดการซ่อมบำรุง มีปลวกเข้าไปอยู่ในระบบการทำงาน และมีต้นไม้บดบัง