ชัชชาติพร้อมป้องกันน้ำท่วมกรุง คาดใช้เวลา 6 วัน น้ำจากสุโขทัยถึง กทม.

วันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 17:05 น.

5 มาตรการป้องกันน้ำท่วมกรุง คาดใช้เวลา 6 วัน น้ำจากสุโขทัยถึง กทม. ผู้ว่าฯชัชชาติ เผยเสริมแนวเขื่อน เตรียมสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง ลอกท่อแล้ว 4,300 กม. วันนี้ (27 ส.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพฯ  พร้อมลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จาก ท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่านและมวลน้ำไหลลงมาทางแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนปี 54 เพราะน้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม โดยเขื่อนภูมิพลประมาณ 50% เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 70% ยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ขณะที่ปี 54 เกิดน้ำท่วมหนัก น้ำล้นเขื่อน เขื่อนทั้ง 2 แห่ง ต้องปล่อยน้ำ อีกทั้ง น้ำที่ไหลลงมาไม่ได้เยอะมาก เช่น ที่สถานีบางไทร ด่านที่ต้องเฝ้าระวังของ กทม. ขณะนี้อัตราการระบายน้ำประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที โดยสามารถรับได้ถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที แม้จะมีมวลน้ำเหนือมารวมเชื่อว่าไม่น่าจะถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที ขณะนี้แนวกั้นน้ำดีขึ้นกว่าเดิมมาก จุดที่เคยเป็นฟันหลอ เช่น บริเวณวังหลัง ฝั่งธน พระนคร สะพานปลา ถนนเจริญกรุง บางพลัด ประมาณ 32 จุด อุดไปแล้ว 17 จุด และรวมจุดฟันหลอทั้งหมด 120 จุด ทำแล้วเสร็จรวม 64 จุด ส่วนที่เหลือได้เตรียมกระสอบทรายไว้อุดแล้วประมาณ 1,500,000 ใบ เป็นของสำนักการระบายน้ำ 250,000 และของสำนักงานเขตกว่า 1 ล้านใบ “ที่กังวลคือน้ำฝน เพราะสภาพอากาศโลกเปลี่ยน หากฝนตกใน กทม. ปริมาณมากอาจต้องใช้เวลาในการระบาย ซึ่ง กทม. ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งการลอกคูคลอง ซึ่งทำมาทั้งปีไม่ได้เพิ่งทำ คลองหลักขุดลอกไปแล้ว 200 กม. เปิดทางระบายน้ำคูคลองทำไปแล้ว 1,300 กม. ลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,300 กม. ทำให้ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตกหนัก ถนนหลักก็ใช้เวลาระบายน้ำแห้งหมดไม่เกิน 3 ชม.” นายชัชชาติระบุ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้วาง 5 มาตรการ รับมือน้ำให้กับชาวกรุงเทพฯ คือ 1. ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ พร้อมตรวจสอบความเรียบร้อยและให้การช่วยเหลือประชาชน 2. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม 3. การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย การลดระดับน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ  และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 ส.ค. 66 กับ 25 ส.ค. 67) พบว่า ปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 6 วัน (2 ก.ย. 67) โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพฯ คือ ที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที