เรื่องใหญ่ต้องขยาย : น้ำเน่าชาวบ้านใช้ทำการเกษตรไม่ได้ จ.นครราชสีมา
วันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 12:52 น.
7 สีช่วยชาวบ้าน - เรื่องใหญ่ต้องขยายวันนี้ เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน 2 ตำบลใน 2 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา หลังน้ำในลำน้ำมูลเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น ใช้ประโยชน์ไม่ได้เหมือนเดิม จะใช้น้ำไปรดพืชผัก สูบเข้านาไม่ได้แล้ว เพราะน้ำไม่สะอาดเหมือนเดิม และที่บอกว่าเดือดร้อนกัน 2 ตำบล ใน 2 อำเภอ คือ ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี และตำบลทุ่งอรุณ อำเภอโชคชัย ชาวบ้าน เล่าว่า จริง ๆ ปัญหาน้ำในลำน้ำมูลเน่าเสีย เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ครั้งนี้รุนแรงมาก เพราะสีของน้ำดำเข้ม และกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก ยังโชคดีที่ในชุมชนเจาะบ่อบาดาลไว้ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แต่เดือดร้อนตรงที่ไม่มีน้ำใช้ในภาคการเกษตร จึงอยากให้หน่วยงานในพื้นที่เข้ามาตรวจสอบและเร่งแก้ไข จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี และนายธรรมทรรศ ทองสำโรง นายอำเภอโชคชัย มอบหมายให้ปลัดอำเภอทั้ง 2 อำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) และกรมเจ้าท่า เบื้องต้นพบปัญหาตามที่ชาวบ้านร้องเรียนจริง โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านบ้านเหมืองตะโก ตำบลครบุรี ระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร น้ำมีสีดำสนิทคล้ายกับสีน้ำมันดิบ และมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) ตรวจสอบพบว่าน้ำในจุดนี้ มีปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่วนสารประกอบอื่น ๆ ยังไม่สามารถระบุได้ จึงเก็บตัวอย่างน้ำกลับไปตรวจในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เบื้องต้นมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังแห่งหนึ่งในอำเภอครบุรี ยอมรับว่ามีน้ำปนเปื้อนขี้เถ้าที่โรงงานได้บดอัด เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นโรงงานบางส่วน รั่วไหลออกมา ทางเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่า วเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลไปตรวจสอบ ว่าจะมีความผิดตามกฎหมายข้อใดหรือไม่ รวมถึงต้องรอผลตรวจตัวอย่างน้ำจากห้องปฏิบัติการมาประกอบด้วย ส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้น นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี ได้ประสานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ให้ช่วยระบายน้ำจากเขื่อนมูลบน เพื่อปรับระบบนิเวศลำน้ำมูลให้กลับสู่ภาวะปกติ ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในลำน้ำมูลบางช่วงตื้นเขิน ไม่มีการไหลเวียนของน้ำ ซึ่งทางเขื่อนมูลบนได้ระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือแล้วประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน