“วิโรจน์” เผย กองทัพเมินชี้แจง ถือเป็นการเย้ยและท้าท้าย จ่อใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย เอาผิดผู้เกี่ยวข้อง
วันที่ 22 ส.ค. 2567 เวลา 17:21 น.
กมธ.ทหาร ถก ปม พลทหารถูกซ้อมเสียชีวิต “วิโรจน์” เผย กองทัพเมินชี้แจง ถือเป็นการเย้ยและท้าท้าย จ่อใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย เอาผิดผู้เกี่ยวข้อง วันนี้ (22 ส.ค.67) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.การทหาร ได้พิจารณากรณีทหารเกณฑ์ถูกลงโทษทางวินัยจนเสียชีวิต โดยได้เชิญ กองทัพบก, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เข้าชี้แจง ส่วน กองทัพบก ได้แจ้งเลื่อนการเข้าชี้แจงและจะมีหนังสือตอบมาในภายหลัง โดยก่อนการประชุมนายวิโรจน์ ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ได้เชิญผู้บังคับบัญชาค่ายนวมินทราชินี หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี ผ่านกองทัพบก แต่ได้รับการปฏิเสธเข้ามาชี้แจง แต่ไม่ใช่เหตุที่เราต้องประวิงเวลา เพื่อเลื่อนประชุม เพราะข้อเท็จจริงจากกองทัพภาคที่ 1 ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นกำลังพลนายสิบและทหารกองประจำการ จำนวน 13 นาย ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่ขาดการกำกับดูแล จำนวน 3 นาย ตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวดจนถึงผู้บังคับกองพัน แต่จากการดูผลชันสูตรพบว่าอวัยวะภายในบอบช้ำ กระดูกสันหลังหัก และยังมีกระดูกหักอีกหลายซี่ น่าจะเป็นการพยายามฆ่ามากกว่า นายวิโรจน์ กล่าวว่า เคยขอความร่วมมือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการจัดทำโครงการพลทหารปลอดภัย ซึ่งมีความตั้งใจไม่ให้มีพลทหารเสียชีวิตในค่าย การกระทำการเช่นนี้ถือเป็นการเย้ย ท้าทาย ไม่กลัวเกรงกฎหมาย ซึ่งปล่อยไว้ไม่ได้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ต้องจริงจังกว่านี้ ในส่วนของกมธ.ได้ใช้กลไกของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ. อุ้มหาย ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย โดยจะมีการชี้เบาะแสให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว หากพบว่าระดับผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินการตามสมควร ต้องร่วมรับผิดด้วยกึ่งหนึ่ง และทหารที่ก่อเหตุต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตฯ ไม่ใช่ศาลทหาร จึงมีความยุติธรรมที่จะมอบให้กับผู้เสียหายอย่างมาก ส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิกความรุนแรงในค่ายทหารได้แล้ว ความมีวินัย ความเข้มแข็งของพลทหารไม่จำเป็นต้องแลกด้วยการซ้อมทรมาน จึงขอตั้งคำถามซี่โครงหัก ปอดฉีกขาด อวัยวะภายในหลายแห่งบอบช้ำ แบบนี้คือการธำรงวินัยหรือไม่ และที่สำคัญผู้เสียชีวิตสมัครมาเป็นทหาร ต้องตั้งคำถามว่าคุณทำกับคนที่อยากมาเป็นทหารได้ยังไง ยืนยันว่า เมื่อกองทัพไม่มา ตนเอง ก็ไม่มีหน้าที่ต้องไปหา ถือเป็นการเย้ย และท้าทายกรรมาธิการการทหาร เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่ต้องเกรงใจเหมือนกัน ว่าไปตามกฎหมาย ด้านทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า นายทหารระดับนายพัน เชิญพ่อแม่ของพลทหารวรปรัชญ์ เข้ามาพูดคุยถึงเรื่องการรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนายทหารคนดังกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชาค่าย ได้ดูแลครอบครัวของผู้เสียหายอย่างดี ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น ค่าใช้จ่าย การประสานงานติดตามจับกุมผู้ต้องหา แต่ครอบครัวพลทหารวรปรัชญ์ ยืนยันว่ากองทัพบอกต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยนายทหารคนดังกล่าว ขอร้องไม่ให้ญาติพลทหารวรปรัชญ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกองทัพบก แต่ทนายความได้ยืนยันไปว่า เป็นสิทธิ์ของญาติที่จะฟ้องกองทัพได้ โดยมีการนัดหมายจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ย.นี้ นอกจากนี้ ทนายได้เปิดเผยว่า ทางผู้บัญชาการค่ายนวมินทร์ฯ ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาในการดูแลเรื่องนี้ เพียงแต่ให้คำยืนยันกับญาติว่าจะดูแลพลทหารที่มาเป็นพยานให้ที่สุด ไม่ให้นายทหารที่ถูกดำเนินคดี เข้ามาข่มขู่หรือยุ่งเหยิงกับรูปคดีเด็ดขาด นางนิชนันท์ วังคะฮาต สมาชิกพรรคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ กล่าวว่า มีพลทหาร ในค่ายนวมินทร์ฯ ส่งข้อความมาแจ้งเบาะแส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก สาเหตุที่พลทหารวรปรัชญ์ถูกธำรงวินัยอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นคนช้า จึงมักจะถูกธำรงวินัยอยู่ ทั้งเตะ ต่อย กระทืบ ถูกสั่งให้เข้าเวรยาม 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง ถูกบังคับให้กินปัสสาวะตัวเอง จนป่วย เคยแจ้งหัวหน้าหน่วยแล้ว แต่ถูกเพิกเฉย จนทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตในที่สุด