องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ และมอบแก่ประชาชนที่จังหวัดนราธิวาส
วันที่ 20 ส.ค. 2567 เวลา 20:09 น.
ที่วัดโต๊ะโม๊ะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยเลขาธิการ กปร. และคณะ เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถวายแด่พระสงฆ์ 9 รูป โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดโต๊ะโม๊ะ ขึ้นในปี 2521 เป็นสาขาของวัดประชาคมวนาราม จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ประกาศตั้งวัดเมื่อปี 2528 มีพระครูสถิต ศีลาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบัน จำพรรษาที่สหราชอาณาจักร พระครูบารัฐ รองเจ้าอาวาส ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์จำพรรษา 5 รูป จากนั้น เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ครอบครัว 4 ทหารเสือ ซึ่งปี 2519 รัฐบาลได้จัดสรรที่ดิน 16 ไร่ ให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินให้สมัครเป็นสมาชิก "นิคมสร้างตนเองสุคิริน" ต่อมาปี 2522 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงงานในพื้นที่ นายบุญเหลือ เดชกุลรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน, นายสวน อัตตะสาระ, นายกุหลาบ เพิ่มผล และนายเปรม ปิ่นแก้ว ที่เข้ามาทำกินในพื้นที่นิคมสร้างตนเองสุคิริน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาและเหตุการณ์ในพื้นที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ต่อไปนี้ทั้งสี่คนนี้ คือ สี่ทหารเสือ" โดยเป็นตัวแทนสอดส่องดูแลประชาชนที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาที่แห่งนี้ ในการนี้ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนนิคมสร้างตนเองสุคิริน อาทิ โครงการนาข้าวขั้นบันไดตามพระราชดำริ บ้านยาเด๊ะ ซึ่งมีพระราชดำริเมื่อปี 2527 ให้กรมชลประทาน ตรวจสอบพื้นที่และสร้างฝายทดน้ำที่คลองยาเด๊ะและนิคมฯ, ตรวจสอบพื้นที่ที่สามารถทำนาได้ แล้วแบ่งให้ราษฎรและสมาชิกฯ ครัวเรือนละ 5 ไร่ ในรูปสหกรณ์ โดยดำเนินการในปี 2529 ปรับปรุงพื้นที่สงวนเพื่อกิจการนิคมฯ เป็นนาข้าวขั้นบันได 400 ไร่ เป็นแปลงนาขั้นบันได 309 ไร่ และแปลงไม้ผล 91 ไร่ มีสมาชิก 40 ครอบครัว แบ่งแปลงนาให้ครอบครัวละ 5-10 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 35-50 ถัง ส่วนโครงการศิลปาชีพฯ ทรงทราบว่าราษฎรอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยทอผ้าไหมมาก่อน แต่ยังไม่มีฝีมือในการทอ ประสงค์ที่จะทอผ้าเป็นอาชีพเสริม แต่ขาดวัสดุอุปกรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างศาลาศิลปาชีพ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์ทอผ้าไหม และเงินค่าผ้าไหมแก่สมาชิก ปัจจุบัน มีกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้าน 6 กลุ่ม ได้แก่ ทอผ้าไหม, จักสานลิเภา, จักสานไม้ไผ่, แกะสลักไม้ ปักผ้า และถักโคร์เชท์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการหมู่บ้านศิลปาชีพนิคมฯ สุคิริน (บ้านเล็กในป่าใหญ่), โครงการธนาคารข้าวตามพระราชดำริ และโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามพระราชดำริ ในตอนบ่าย เชิญถุงพระราชทานไปถวายแด่พระสงฆ์ 9 รูป ณ วัดประชุมชลธารา อำเภอสุไหงปาดี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2444 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี 2475 ภายในมีเสนาสนะ อาทิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอไตร และหอระฆัง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เช่น โครงการเรียนรู้ภาษามลายูท้องถิ่น โครงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โครงการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ โครงการจริยธรรมศึกษา โรงเรียนสอนปริยัติธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาของจังหวัด ปัจจุบัน มีพระธรรมวัชรจริยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มอบแก่ประชาชน จำนวน 28 ถุง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ด้วยทรงห่วงใยสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เยี่ยมชมผลผลิตของฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านโคกโก ได้แก่ ผักสด และผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ มะม่วงหาวมะนาวโห่ ดองน้ำผึ้ง, กล้วยฉาบหวาน-เค็ม, และปลาส้ม ส่วนผลผลิตของฟาร์มตัวอย่างฯ โคกไร่ใหญ่ คือ ผักสดและผลไม้ เช่น สะตอ สับปะรด รวมทั้งนำไข่ไก่ที่ไม่สมบูรณ์ และวัตถุดิบในโครงการฯ แปรรูปเป็นทองม้วน เค้กกล้วยหอม ขนมดอกจอก การพระราชทานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ทำให้ราษฎรมีงานทำ สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างมั่นคง