วิษณุ ถกวงเล็ก อุดช่องโหว่ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ป้องกันฟ้องศาลในอนาคต
วันที่ 13 ส.ค. 2567 เวลา 12:27 น.
วิษณุ ถกวงเล็ก “ดิจิทัลวอลเล็ต” หาคำตอบอุดช่องโหว่ หากถูกฟ้องศาล ปัดตอบคุยเรื่องงบประมาณหรือไม่ วันนี้ (13 ส.ค.67) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงการคลังว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้พูดทบทวนกันเล็ก ๆ 2-3 คน ส่วนที่ประชุมวงใหญ่ได้พูดคุยกันหลายรอบแล้ว วงเล็กจึงเข้ามาช่วยดูอีกรอบ ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาในประเด็น ให้ไปทำเรื่องรายละเอียดเพิ่มเติม มีปัญหาบางจุดเท่านั้นเอง ซึ่งทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมพิจารณาด้วย และพบว่ายังมีปัญหาบางจุดที่สังคมอาจสงสัย ความจริงเขาเตรียมมาดีแล้ว แต่ยังมีบางรายละเอียดที่สังคมอาจสงสัย จึงต้องทำให้ตอบคำถามสังคมได้ ที่สำคัญ ต้องตอบศาลให้ได้ด้วย หากมีคดีขึ้นมา เมื่อถามยํ้าว่า เปิดเผยได้หรือไม่ว่า มีปัญหาอะไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตนขอไม่เปิดเผย โดยนายวิษณุ ยืนยันว่า การพูดคุยเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีปัญหาอะไร และไม่มีใครกังวล แต่เป็นการหารือในข้อกฎหมายบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ร่วมหารือด้วย และพบว่ายังมีปัญหาบางจุดที่อาจทำให้สังคมสงสัย เพราะฉะนั้นต้องทำให้ทุกอย่างสามารถตอบสังคมได้ ที่สำคัญต้องตอบศาลได้ด้วย หากมีคดีฟ้องร้องในภายหลัง เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจ แต่เป็นประเด็นอะไรนั้นไม่ขอเปิดเผย เมื่อถามว่า ใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณหรือไม่ นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่ขอเปิดเผย เมื่อถามต่อว่า กังวลจะกลายเป็นดาบกลับมาแทงรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กังวล เพียงแต่ยังไม่ครบถ้วน จึงต้องมาดูให้ถี่ถ้วน ซึ่งดีกว่าดูลวก ๆ และผ่านไป ที่สำคัญทุกฝ่ายจะได้เกิดความมั่นใจ ส่วนในแง่ข้อกฎหมายเรื่องเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ มีปัญหาอะไรหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด ก็มีความเป็นห่วง แต่เมื่อเห็นแล้วความเป็นห่วงอาจจะหมดไปก็ได้ โดยก่อนหน้านี้เคยเห็นมาแล้วตอนเปิดรับฟังความเห็น แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการเช่นนั้นอีกหรือไม่ แต่เท่าที่ดูคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งหากเปิดรับฟังความเห็นแล้วอยู่ที่รัฐบาลจะนำปัญหานั้นไปแก้ไขหรือไม่ เรื่องนี้ยังคงมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน และต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมาย และเมื่อศึกษาความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเปิดรับฟังความเห็นคู่ขนานไปด้วย ก่อนส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และส่งต่อไปยังวุฒิสภาจนจบกระบวนการ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย