ปธ.วิปรัฐบาล คอนเฟิร์ม 14 ส.ค.นี้ ได้รองประธานสภาฯ คนใหม่ เผยชื่อผู้ท้าชิง แต่ไม่ฟันธง

วันที่ 8 ส.ค. 2567 เวลา 11:35 น.

14 ส.ค.นี้ รอลุ้นเลย โฉมหน้ารองประธานสภาฯ คนใหม่ ปธ.วิปรัฐบาล เผยชื่อผู้ท้าชิง แต่ไม่ฟันธง พร้อมให้กำลังใจก้าวไกล วันนี้ (8 ส.ค.67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการยุบพรรคก้าวไกล ว่า ตอนนี้ก็ต้องให้กำลังใจกับพรรคก้าวไกล แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามกติกา ต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว เป็นธรรมดาของการเมืองมีเข้ามาและมีออกไป ขอให้กำลังใจให้เข้มแข็ง ยุคก่อนที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเพิ่งกลับมาในสมัยนี้ก็มี ส่วนการทำงานในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลที่มี สส. 3-5 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองและต้องออกจากตำแหน่ง สส.สัดส่วนในสภาฯ จึงไม่แตกต่างกันมาก ยังพอจะทำงานอย่างปกติได้ ไม่มีอะไรน่าห่วงและเป็นกังวล สำหรับประธานกรรมาธิการต่าง ๆ ต้องไปดูสัดส่วนของแต่ละพรรคกันใหม่ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติกันตามปกติอยู่แล้ว ให้สามารถปรับตำแหน่งได้อย่างครบถ้วน และเหมาะสมตามที่ตกลงกันไว้ ขณะที่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต้องเลือกกันใหม่นั้น มีผู้ให้ความสนใจมาก แต่เหตุยุบพรรคก้าวไกลเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ก็ยังไม่กล้าตอบว่าพรรคไหนจะได้มาเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยวันที่ 14 ส.ค.67 จะได้เลือกรองประธานสภาฯ คนใหม่แน่นอน ซึ่งต้องให้ผู้นำของพรรคร่วมรัฐบาลมาเจรจาก่อน และส่งตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คงไม่ใช่ตำแหน่งทางโควตาอย่างเดียว ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างทางการเมือง ต้องเป็นคนจากฝ่ายรัฐบาล 100% เพราะก่อนหน้านี้ที่เลือกให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาฯ เพราะคิดว่าก้าวไกลจะมาร่วมรัฐบาล เมื่อต้องเลือกใหม่ก็ควรเป็นสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เมื่อสัดส่วนรองประธานสภาฯ ขณะนี้เป็นของเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ที่รองประธานสภาฯ อีกตำแหน่งจะเป็นของพรรคภูมิใจไทย โดยมีชื่อของนายภารดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อาจมาชิงตำแหน่งรองประธานฯ ได้ มองว่าก็มีความเหมาะสม ก็อยู่ในรัฐสภามาหลายสมัย บิดาของนายภารดรก็เคยดำรงตำแหน่งนี้เช่นกัน แต่ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าเป็นใคร นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลกเขต 2 ว่า เพื่อไทยจะต้องให้ กก.บห. พิจารณาก่อนว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตามมารยาทแล้วในพรรคร่วมรัฐบาลก็จะให้พรรคที่ได้ลำดับรองลงมานั่นคือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 66 แต่ก็อยู่ที่ผู้บริหารพรรคจะเจรจากัน