ฟ่าง ธีรพงศ์ ศิลาชัย หนุ่มวัย 20 ปี จาก จ.ศรีสะเกษ คว้าเหรียญเงิน ยกน้ำหนักโอลิมปิก เหรียญแรกของทัพยกเหล็กไทยในรอบ 8 ปี
วันที่ 8 ส.ค. 2567 เวลา 08:13 น.
“ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย หนุ่มวัย 20 ปี จาก จ.ศรีสะเกษ คว้าเหรียญเงิน ยกน้ำหนักโอลิมปิก เหรียญแรกของทัพยกเหล็กไทยในรอบ 8 ปี “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย หนุ่มวัย 20 ปี จาก จ.ศรีสะเกษ โชว์ฟอร์มสุดยอด ยกผ่านรวดทั้ง 6 ลิฟต์ รุ่น 61 กิโลกรัมชาย ทำสถิติน้ำหนักรวม 303 กิโลกรัม นับเป็นสถิติที่ดีที่สุดในชีวิต และเป็นเหรียญรางวัลโอลิมปิกเหรียญแรกของทัพยกเหล็กไทยในรอบ 8 ปี การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก โอลิมปิกเกมส์ “ปารีส 2024“ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ”ฟ่าง“ ธีรพงศ์ ศิลาชัย รุ่น 61 กิโลกรัมชาย วัย 20 ปีลงชิงชัยโอลิมปิกสมัยแรก ดีกรี 2 เหรียญทอง รุ่น 55 กิโลกรัมชาย ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2565 ที่ประเทศโคลอมเบีย ล่าสุดคว้า 1 เหรียญเงิน จากรายการ ยกน้ำหนัก “เวิลด์ คัพ” เมื่อเดือน เม.ย.67 ที่ จ.ภูเก็ต สำหรับรุ่นนี้มีนักกีฬายอดฝีมือลงชิงชัยมากมาย นำโดย ลี ฟาบิน เจ้าของเหรียญทองและสถิติโอลิมปิก 313 กิโลกรัม ซึ่งทำไว้ในศึก “โตเกียว 2020” และ เจ้าของสถิติโลก 318 กิโลกรัม ทำไว้เมื่อปี ค.ศ.2019 ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ยังมี เอโค อิราวัณ จอมเก๋าวัย 35 ปี จากอินโดนีเซีย เจ้าของเหรียญเงิน “โตเกียว 2020” ลงชิงชัยด้วย ท่าสแนทช์ ธีรพงศ์ ออกสตาร์ทได้ดี ยกผ่านครั้งแรกที่ 127 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 130 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 132 กิโลกรัม จบที่ 3 ในท่านี้ ส่วนที่ 1 เป็นของ ลี ฟาบิน จากจีน 143 กิโลกรัม ทำลายสถิติมาตรฐานโอลิมปิกที่วางไว้ 142 กิโลกรัม และ ที่ 2 เอโค อิราวัณ จากอินโดนีเซีย 135 กิโลกรัม ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ธีรพงศ์ ยกผ่านครั้งแรกที่ 167 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 169 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 171 กิโลกรัม ทำให้สถิติน้ำรวมอยู่ที่ 303 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินไปครอง ถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของ ธีรพงศ์ ที่ยกผ่านรวดทั้ง 6 ลิฟต์ และยังสถิติที่ดีที่สุดของตัวเอง หลังจากเคยทำสถิติน้ำรวมของตัวเองดีที่สุดอยู่ที่ 299 กิโลกรัม ส่วนเหรียญทอง เป็นของ ลี ฟานบิน จากจีน 310 กิโลกรัม (143-167) และเหรียญทองแดง เป็นของ มอร์ริส แฮมป์ตัน จากสหรัญฐอเมริกา 298 กิโลกรัม (126-172) สำหรับเงินรางวัล ที่ ธีรพงษ์ ศิลาชัย ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท จากการคว้าเหรียญเงินของ “ธีรพงศ์” นับเป็นเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในรอบ 8 ปี หลังจากคว้า 2 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ในโอลิมปิก “รีโอเกมส์ 2016“ และเป็นนักกีฬายกน้ำหนักชายคนที่ 2 ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ ต่อจาก สินธุ์เพชร กรวยทอง เคยได้เหรียญทองแดง ที่ “รีโอเกมส์ 2016”