กทม. เตรียมรับมือ Rain Bomb เฝ้าระวังจุดอ่อน 24 ชม.

วันที่ 6 ส.ค. 2567 เวลา 18:57 น.

วันนี้ (6 ส.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเดือนส.ค.ว่า มีสิ่งที่วิตกกังวล คือการเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือปรากฎการณ์ Rain Bomb ที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่จุดอ่อนในกรุงเทพฯ ดังนั้น กทม. จึงต้องเพิ่มเติมในส่วนของการพยากรณ์ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้นว่า ฝนกำลังจะตกหนักในพื้นที่ใด เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ เช่น รถสูบน้ำเคลื่อนที่ อุปกรณ์เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นต้น ขณะนี้มีจุดที่เป็นห่วง คือคลองเปรมประชากรที่เป็นคลองหลัก ซึ่งจะรองรับน้ำจากคลองย่อยหลายคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือยังมีการก่อสร้างเขื่อนไม่เสร็จ และยังมีบ้านรุกล้ำคูคลอง โดยปัญหาดังกล่าวอยู่ย่านดอนเมือง และบริเวณซอยช่างอากาศอุทิศ ซึ่งได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข และอีกคลองที่เป็นห่วง คือคลองประเวศบุรีรมย์ย่านลาดกระบังที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการให้เร่งระบายน้ำไปลงคลองบางซื่อโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และเร่งขุดลอกคูคลองบริเวณที่เกี่ยวข้องแล้ว นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ได้วิเคราะห์การแก้ปัญหาน้ำท่วมมาตลอด ทั้งในระดับเส้นเลือดใหญ่และระดับเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ของกทม. คืออุโมงค์ยักษ์และระบบอุโมงค์หลักในการระบายน้ำ รวมถึงระบบประตูระบายน้ำต่าง ๆ ส่วนเส้นเลือดฝอย คือการขุดลอกคูคลองและลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการไปกว่า 90% ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์จุดเสี่ยงน้ำท่วมกว่า 577 จุด โดยการถอดบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ซึ่ง กทม. เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในจุดหลักแล้วกว่า 50% แต่บางครั้งการระบายน้ำอาจต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ทั้งหมดน่าจะดีขึ้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่เขตบางนา ปริมาณน้ำฝนกว่า 70 มิลลิเมตร แต่ กทม. ก็สามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว มีเพียงแยกเดียวที่ได้รับผลกระทบ คือบริเวณแยกถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนบางนา-ตราด และก่อนหน้านั้น คืนก่อนมีฝนตกหนักบริเวณฝั่งธนบุรี ทำให้ถนนเพชรเกษมมีน้ำท่วมขังแต่ก็ยังสามารถระบายน้ำได้ภายในครึ่งชั่วโมง เนื่องจาก กทม. มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตการณ์ วิเคราะห์ และพร้อมแก้ไขปัญหา รวมถึงมีเจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง