สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ประจำปี 2567 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 2 ส.ค. 2567 เวลา 20:04 น.

เวลา 09.05 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ประจำปี 2567 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภก สภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งสภากาชาดไทย จัดงานชุมนุมกาชาดครั้งแรกเมื่อปี 2508 เพื่อให้เหล่ากาชาดจังหวัด กิ่งกาชาดอำเภอ และสภากาชาดไทยส่วนกลาง ทำกิจกรรม พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการประสานประโยชน์ให้กับการปฏิบัติภารกิจของสภากาชาดไทย นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการ เพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาด 7 ประการ และเพื่อสืบสานปณิธาน และต่อยอดภารกิจการเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยยุทธศาสตร์ "สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21" โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดงาน "ชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12" และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21" ทรงกล่าวถึงความสำเร็จและการพัฒนาของสภากาชาดไทย ตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เมื่อปี 2520 ตลอดเวลาที่ผ่านมา สภากาชาดไทย มุ่งมั่นทำงาน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและผู้ต้องการความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน การช่วยเหลือของสภากาชาด ไม่เฉพาะคนไทย แต่ได้ช่วยเหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพอนามัย และร่วมมือกับสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ สนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาต่าง ๆ ให้กับคนทั่วโลก จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไทย "ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชูปถัมภก สภากาชาดไทย" ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน นิทรรศการของสภากาชาดไทย และนิทรรศการภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ สภากาชาดไทย มุ่งมั่นเพื่อยกระดับและขยายงานตามพันธกิจ เป็นที่พึ่งประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคม ใช้ยุทธศาสตร์ "สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21" เพื่อเป็นองค์กรแห่งคุณธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส และทันสมัย ให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กำหนดจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริการประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การปลูกฝังจิตสำนึกและร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมและสนับสนุนให้อาสาสมัครร่วมทำกิจกรรมตามพันธกิจของสภากาชาดไทย มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ เป็นตัวแทนสำคัญในส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของสภากาชาดไทย ในตอนบ่าย ทอดพระเนตรต้นมะพร้าวทะเล ที่ทรงปลูกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศเซเชลส์ เมื่อปี 2539 เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ที่ลำต้นสูง 25-34 เมตร ตัวผลมีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม เมล็ดขนาดใหญ่ ลักษณะเด่น คือ กะลามีรอยแยกตรงกลางเหมือนเป็นมะพร้าวแฝด เป็นพันธุ์ไม้หายาก สวนนงนุชพัทยา มีต้นมะพร้าวทะเล ที่ปลูกลงดินแล้ว 34 ต้น ต้นกล้า 55 ต้น มีผลมะพร้าวแฝด 162 ลูก ในช่วงการปอกเปลือกมะพร้าวทะเล มีนักเรียนและคณะครูจากโรงเรียนในอำเภอสัตหีบ ร่วมศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับมะพร้าวทะเล เพื่อศึกษาพันธุ์ไม้หายาก และการดูแลรักษาพันธุ์ไม้ที่ถูกวิธี สวนนงนุช นอกจากจัดแสดงพรรณไม้นานาพันธุ์จากทั่วโลก ยังเป็นศูนย์กลางสวนพฤกษศาสตร์ ภายใต้แนวคิดรักษ์ต้นไม้ ลดโลกร้อน พร้อมยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก จากนั้น ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์โขน ตั้งขึ้นจากปณิธานของ นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ที่ต้องการอนุรักษ์และรวบรวมงานศิลปะชั้นสูงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้เวลาศึกษารวบรวมข้อมูล และสร้างผลงานต่าง ๆ ประมาณ 10 ปี จัดแสดงงานหัวโขน 4 กลุ่ม 522 เศียร แบ่งเป็นงานอนุรักษ์ (งานเศียรกระดาษ), งานหัวโขนต้นแบบฤษี 4 เศียร (งานหล่อ), พระฤษี (งานหล่อ), และรามเกียรติ์ (งานหล่อ), งานปักสะดึงไทยโบราณ, หุ่นกระบอก, ภาพรามเกียรติ์กำแพงวัดพระเชตุพนฯ และงานหัตถกรรมไทยสาขาช่างสิบหมู่ โดยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นไทย สืบทอดงานศิลปกรรมไทย เพื่อเป็นมรดกของแผ่นดินไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อไป