ชัยธวัช แถลงการณ์ “ก้าวไกล” ปิดคดียุบพรรค ครั้งสุดท้าย ก่อนศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย 7 ส.ค. นี้

วันที่ 2 ส.ค. 2567 เวลา 18:50 น.

ชัยธวัช แถลงการณ์ “ก้าวไกล” ปิดคดียุบพรรค ครั้งสุดท้าย ก่อนศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย 7 ส.ค. นี้ ชี้การวินิจฉัยยุบ “ก้าวไกล” ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล วันนี้ (2 ส.ค. 67) นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัย ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ามีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ยืนยันว่า กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ไปเพิ่มขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นี่จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำคำวินิจฉัยคดี 3/2567 หรือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นบรรทัดฐาน หรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในคดีนี้ได้ นายชัยธวัช ย้ำถึงการยื่นคำร้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการไม่รับฟังคู่ความคดีทุกฝ่าย ถือไม่เป็นผล ยืนยันว่า เมื่อพิจารณาในหลักของความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ทั้งในแง่มูลเหตุและข้อเท็จจริง ย่อมชัดเจนว่า ไม่อาจการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ 3/2567 มาผูกพันในคดีนี้ได้ ส่วนข้ออ้างที่ กกต. กล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การนำผลคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาปิดปากวินิจฉัยคดีนี้ จะต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่า หรือระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ดังนั้น พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า กกต. ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า ข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตนเองต้องเสนอต่อศาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย สำหรับการกระทำที่นอกเหนือจากการเสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด ไม่ได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่มี สส. เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 หรือการแสดงออกส่วนตัวอื่น ๆ ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการ หรือบงการแต่อย่างใด นี่จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ศาลไม่สามารถรับฟังได้ และไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองที่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ในอดีตก็มีการเสนอแก้อยู่หลายครั้งแต่ไม่เคยนำไปสู่การล้มลางการปกครองแต่อย่างใด นายชัยธวัช ยังยกตัวอย่าง กรณีที่ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยที่ได้เสนอให้สำนักเลขาธิการ เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณา ให้มีการเริ่มดำเนินคดีอาญาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด มาตรา 112 แทนพระมหากษัตริย์ โดยมีหลักการเดียวกันกับร่างแก้ไข มาตรา 112 ทึ่พรรคก้าวไกลเสนอ และ “ตนไม่เชื่อว่า นายอุดม จะมีความคิดล้มล้างการปกครอง” นายชัยวัช ชี้ว่า นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามสภาววิสัยตามความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป หรือตามความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองโดยตรง อย่าง กกต. นั้นการกระทำของผู้ถูกร้องในคดีนี้ หรือพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ หากพิจารณา คำวินิจฉัย 3/2567 โดยละเอียด เป็นเพียงการสั่งให้เลิกกระทำเท่านั้น มิได้ให้พรรคก้าวไกลยกเลิกนโยบายเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้กระทำ เนื่องจากหากศาลเห็นเป็นเช่นนั้น ก็ควรที่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเสนอนโยบายนี้ด้วยในอนาคต นายชัยธวัช เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล เพราะการยุบพรรค ควรเกิดขึ้นเมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่จะยับยั้งการกระทำที่รุนแรงได้อย่างทันท่วงทีแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายหลักการระบอบประชาธิปไตย ยืนยันว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงขนาดที่จะต้องยุบพรรค และไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกลอีกต่อไป ยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีสถานะยิ่งกว่าวิญญูชน ซึ่งต่างเคยเห็นมาก่อนว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง สุดท้าย แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด ซึ่งหากจะมีการกำจัดสิทธิ ก็ต้องเป็นกระทำตามกฏหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น โดยเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางหลักเอาไว้ จึงไปจำกัดสิทธิ์และตัดสิทธิ์ไม่ได้ เพราะต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และหากศาลเห็นว่ามีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง แต่การกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ต้องอยู่บนหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี ตามที่ กกต. ร้องขอ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมิได้รู้หรือควรรู้ได้ว่า การกระทำในคดีนี้เป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ กกต. เคยวินิจฉัยยกคำร้องข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กกต.เองในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐก็ยัง เคยให้ความเห็นว่า ว่าการกระทำนี้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมอยู่ในวิสัยที่สามารถเชื่อได้ว่า การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตามคำร้องในคดีนี้ ก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และการเพิกถอนนั้น ต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด